บทที่15  นักมานุษยวิทยาและผลงาน   >> หน้า 9

 

                ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยนั้น ท่านเจ้าคุณอนุมานได้เขียนหนังสือไว้มากมาย ทั้งนี้เพื่อรวบรวมความรู้และเอกสารท้องถิ่นที่เกี่ยวกับตำนาน กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของชนกลุ่มต่าง ๆ ในทุกภูมิภาคของประเทศ อันจะเป็นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในสังคมและวัฒนธรรมของประชาชนในแต่ละท้องถิ่น และนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงการปกครองที่รวมอำนาจการปกครองหัวเมืองเข้าสู่ส่วนกลางในช่วงการปฏิบัติรูปการปกครองสมัยรัชการที่ 5 

                ความรู้ในเรื่องวัฒนธรรมไทยดังกล่าวข้างต้นเป็นผลของการค้นคว้ารวบรวมของข้าราชการปกครองที่ไปประจำตามหัวเมืองต่าง ๆ และส่วนหนึ่งได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณ  ท่านเจ้าคุณอนุมานฯ จึงได้นำมาศึกษาและค้นคว้าต่อไปอีก ในที่สุดก็พิมพ์ออกเป็นหนังสือ ได้แก่ ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ พระราชพิธีสิบสองเดือน แหลมอินโดจีนโบราณ เรื่องของชนชาติไทยบันทึกความรู้ต่าง ๆ ชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ความรู้เรื่องประเพณีไทย ศาสนาเปรียบเทียบ ไตรภูมิ เป็นต้น นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ริเริ่มและมีส่วนสำคัญในการบัญญัติศัพท์สังคมวิทยา-มานุษยวิทยาจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ต่อมา ราชบัณฑิตสถานได้พิมพ์ออกมาเป็น พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา อังกฤษ-ไท(2)

 

                คุณูปการที่ท่านเจ้าคุณฯ ได้กระทำต่อวงการศึกษาวิชามานุษยวิทยาของไทยนั้นมีมากมาย ซึ่งอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ได้ประกาศว่า

"... ผมเห็นว่าฤทธิ์ของท่านจะออกมาเรื่อย ๆ ฤทธิ์ของท่านคือฤทธิ์อันเกิดจากอิทธิบาท 4 ฤทธิ์ของท่านคือการสืบทอดมรดกวัฒนธรรมของไทยไว้ เราควรไดัรับฤทธิ์อันนี้มาสืบทอดต่อ มาเข้าใจวัฒนธรรมของเรา มาภูมิใจวัฒนธรรมของเรา มาช่วยกันสร้างสรรค์ดำเนินตามท่าน ถ้าเป็นเช่นนั้นฤทธิ์ของท่านจักไม่เสื่อมสูญ หากจะดำรงอยู่ต่อไปชั่วกาลนาน..."(3)