บทที่15  นักมานุษยวิทยาและผลงาน  >> หน้า 8

 

1.ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน

                พระยาอนุมานราชธนเกิดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2431 เดิมชื่อหลีกวงหยง ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อไทยว่ายง และได้รับนามสกุลพระราชทานว่าเสถียรโกเศศ จบการศึกษาชั้น 4 โรงเรียนอัสสัมชัน ได้รับรรณาศักดิ์สุดท้ายที่พระยาอนุมานราชธน และตำแหน่งสุดท้ายคืออธิบดีกรมศิลปากร รวมทั้งเป็นอาจารย์พิเศษสอนตามมหาวิทยาลัยและสถานศึกษาหลายแห่ง

                ในขณะที่ทำงานที่กรมศุลกากร (เป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมศุลกากรก่อนที่จะย้ายไปประจำกรมศิลปากร)  พระยาอนุมานฯ ได้ทำงานกับนายนอร์มัน แม๊กซ์เวล ที่ปรึกษาชาวอังกฤษฝ่ายศุลกากร ซึ่งเป็นผู้ให้ความรู้ภาษาอังกฤษและชี้นำให้พระยาอนุมานฯ สนใจทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ต่อมา ท่านจึงได้แปลหนังสือประวัติศาสตร์ดึกดำบรรพ์ ชื่อ Ancient Times แต่งโดย H.S. Breasted ซึ่งสาระของหนังสือเป็นเรื่องเกี่ยวกับกำเนิดของประเทศในยุโรป แอฟริกา และเอเชีย อันเป็นการประมวลความรู้ด้านประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์วิทยา หนังสือแปลเล่มนี้ได้มีส่วนผลักดันให้คนไทยในยุคนั้น (ปี พ.ศ.2466) ให้ความสนใจทางด้านสังคมวัฒนธรรมเป็นครั้งแรก ซึ่งสมดังเจตนารมณ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ประสงค์ให้มีการแปลหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพราะทรงเห็นว่าถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็จะเป็นประโยชน์เพราะการศึกษาในประเทศไทยเจริญขึ้นและมีการติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้นทุกขณะ จึงควรรู้เกี่ยวกับต่างประเทศและหนังสือประเภทนี้ในประเทศไทย (ในยุคนั้น) ก็ยังไม่ค่อยมี

                ในสมัยเดียวกันนี้ ท่านเจ้าคุณอนุมานฯ ได้แปลหนังสือประเภทเดียวกันอีก ได้แก่ โลกยุคดึกดำบรรพ์ และ อารยธรรมยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งเป็นหนังสือที่ว่าด้วยการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์มาจนถึงสมัยใหม่ พร้อมกับขนบธรรมเนียประเพณีของคนต่างเชื้อชาติและวัฒนธรรมในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก