บทที่15  นักมานุษยวิทยาและผลงาน  >> หน้า 7

 

นักมานุษยวิทยาไทย

                ดังที่กล่าวในบทต้น ๆ แล้วว่า คนไทยได้ให้ความสนใจศึกษาสังคมวัฒนธรรมของชนชาติตนเอง ของชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ตามบริเวณชายแดนของประเทศและในเขตสุวรรณภูมิ และของชนต่างชาติมานานนับตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ได้มีการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ดังกล่าวไว้ในคำภีร์ใบลาน ศิลาจารึกและหนังสือต่าง ๆ ทั้งในรูปพงศาวดาร ตำนาน ซึ่งพิมพ์เผยแพร่เป็นจำนวนมาก1 อย่างไรก็ตามผลงานเหล่านี้ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นงานทางสาขามานุษยวิทยาเลยทีเดียว ทั้งนี้เป็นเพราะข้อมูลที่นำมาเขียนมักมาจากแหล่งทุติยภูมิ และ/หรือจากคำบอกเล่ามากกว่าที่จะออกไปศึกษาด้วยการ "สังเกตแบบมีส่วนร่วม" กับชนที่ศึกษาเป็นระยะเวลานานพอเพื่อนำข้อมูลที่ได้รับมาวิเคราะห์ตามระเบียบวิธีการทางมานุษยวิทยา ต่อมาเมื่อวิทยาการสาขามานุษยวิทยาของชาวตะวันตกได้แพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทย จึงมีคนไทยส่วนหนึ่งที่สนใจศึกษาเนื้อหาวิชา ทฤษฎี และระเบียบวิธีการวิจัยอย่างเป็นระบบ ในขณะเดียวกัน บางคนก็ออกเดินทางไปศึกษาสาขาวิชานี้ในสถานศึกษา ณ ต่างประเทศ ภายหลังที่ได้เรียนรู้อย่างจริงจังแล้วคนเหล่านี้จึงเริ่มศึกษาสังคมของตนเองด้วยวิทยาการสมัยใหม่จากตะวันตก รวมทั้ง ได้ทำหน้าที่เป็นผู้สอนตามมหาวิทยาลัยและสถานศึกษาในประเทศไทยที่เปิดสอนวิชามานุษยวิทยาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทเพื่อผลิตบัณฑิตในสาขาวิชานี้ จึงทำให้คนทั่วไปรู้จักและใช้ประโยชน์จากความรู้ที่ได้รับในการทำมาหาเลี้ยงชีพมากยิ่งขึ้น ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

                นอกจากพระยาอนุมานราชธน ผู้ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นปรมาจารย์สาขามานุษยวิทยารุ่นแรกของไทยแล้ว ประเทศไทยของเรามีผู้ที่ได้รับการศึกษาทางด้านนี้เป็นจำนวนมากและส่วนใหญ่จะทำงานประจำตามสถานศึกษาต่าง ๆ ดังนั้น ผู้เขียนจะขอกล่าวสรุปรวม ๆ โดยแยกออกเป็นสำนักตามชื่อของสถานศึกษา และจะชี้ถึงความสนใจเฉพาะทางที่แต่ละสำนักมีบุคลากรพอสังเขป ดังนี้