บทที่15  นักมานุษยวิทยาและผลงาน  >> หน้า 6

 

6.  โคล็อด เลวิ - สตร๊อสส์ (Claude Levi - Strauss)

                เลวิ - สตร็อสส์เป็นนักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงมากที่สุดบนภาคฟื้นยุโรปในยุคปัจจุบัน เขาได้เสนอทฤษฎีมานุษยวิทยาโครงสร้างไว้ในหนังสือชื่อ Structural Anthropology (ค.ศ.1963) ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีของเขาแตกต่างจากทฤษฎีโครงสร้าง-หน้าที่ประโยชน์นิยมของเรดคลิฟ - บราวน์อย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้เพราะ เลวี - สตร๊อสส์ย้ำถึงการศึกษาถึงจุดกำเนิดของวัฒนธรรมและวัฒนธรรมที่แสดงออกมาในรูปพิธีกรรม ศิลปะ และแนวทางในการดำเนินชีวิตประจำวันในสังคม ซึ่งเขาได้สรุปว่า วัฒนธรรมที่ปรากฏออกมาในรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้เป็นภาพสะท้อนของโครงสร้างทางจิตของมนุษย์นั่นเอง

                อาจกล่าวได้ว่า เลวิ - สตร็อสส์สนใจศึกษาวัฒนธรรมในเชิงจิตวิทยามากกว่าในเชิงสังคมวิทยา  เพราะจากการวิเคราะห์ทาง "จิต" ของมนุษย์นี้ เขาได้ให้ข้อคิดว่า ไม่ว่าคนจะอาศัยอยู่ในสังคมชนิดใด ไม่ว่าจะเป็นสังคมป่าเถื่อน หรือสังคมที่เจริญแล้วก็ตาม "จิต" จะสร้างระบบโครงสร้างในการจำแนกแจกแจงวัฒนธรรมออกเป็นหมู่พวกออกเป็นหมวดหมู่ รวมทั้งให้ชื่อและความหมายแก่สรรพสิ่งที่คล้ายคลึงกัน ทั้งที่เป็นชื่อสัตว์ พืช และการจัดลำดับสายเครือญาติอย่างเป็นเหตุเป็นผลและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่ล้อมรอบตัว อาทิเช่น คนในสังคมทุกสังคมจะจำแนกขวาออกจากซ้าย ต่ำ-สูง หนาว-อบอุ่น พื้นพิภพ-ท้องฟ้า เหนือ-ใต้ และขาว-ดำ เป็นต้น พร้อม ๆ กันนี้ก็จะจำแนกความหมายด้วย กล่าวคือ ขวาจะมีอำนาจและดีกว่าซ้าย สัตว์ป่าย่อมดุร้ายและเป็นอันตรายกว่าสัตว์บ้าน

                แนวการอธิบายดังนี้ เป็นความพยายามที่จะอธิบายโครงสร้างทางจิตของมนุษย์ และถือว่าเป็นรากฐานสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมหรือวัฒนธรรมของมนุษย์ ซึ่งขบวนการทางจิตที่กล่าวถึงนี้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันในทุกสังคม โดยจะสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างในด้านความคิดร่วมกันของมวลมนุษยชาติ ด้วยเหตุนี้ เลวิ - สตร็อสส์จึงเชื่อว่า นักมานุษยวิทยาสามารถศึกษาโครงสร้างทางจิตจากรูปลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นได้