บทที่15  นักมานุษยวิทยาและผลงาน  >> หน้า 5

 

5.  รูธ เบนเนดิกท์ (Ruth Benedict) และมาร์กาเรท มีด (Margaret Mead)

                เบนเนดิกท์และมีดเป็นนักมานุษยวิทยาหญิงชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงมาก เบนเนดิกท์เป็นศิษย์ของโบแอส ผู้ซึ่งอาจารย์ได้ถ่ายทอดความรู้ด้วยการชี้นำว่า พฤติกรรมของสมาชิกของสังคมจะตกอยู่ภายใต้แรงกดดันทางวัฒนธรรมที่พวกเขาอาศัยอยู่ ด้วยเหตุนี้ เบนเนดิกท์จึงได้ใช้คำแนะนำของโบแอสเป็นแนวทางในการศึกษาเปรียบเทียบวัฒนธรรมของชาวอินเดียนแดง 3 เผ่า คือ เผ่าพิวโบล โดบู และควาคิตอล โดยพิมพ์ผลงานในหนังสือชื่อ Patterns of Culture (ค.ศ.1934) ข้อสรุปของผลการศึกษาครั้งนี้ก็คือ ความแตกต่างในด้านค่านิยมและการมองโลกนั้นมีส่วนสำคัญในการก่อรูปแบบทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวอินเดียนแดงแต่ละเผ่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเด็ก ๆ ของเผ่าควาคิตอลจะได้รับประสบการณ์และจะตั้งเป้าหมายในการดำรงชีวิตที่แตกต่างไปจากเด็ก ๆ ของเผ่าพิวโบลและเผ่าโดบู ดังนั้น กระบวนการของการอบรมสั่งสอนตั้งแต่เยาว์วัยจะยังผลให้แบบแผนของวัฒนธรรมของคนในแต่ละสังคมแตกต่างกันออกไป

                ในขณะเดียวกัน มาร์กาเรท มีดได้ออกไปศึกษาชีวิตของเด็กสาวในเกาะซามัวแถบทะเลใต้ เธอได้สรุปว่า เด็กสาวชาวเกาะซามัวมีแรงกดดันในการดำเนินชีวิตในช่วงนี้น้อยกว่าเด็กสาว อเมริกัน ทั้งนี้เป็นผลมาจากลักษณะสังคมวัฒนธรรมของชาวเกาะมีความสลับซับซ้อนน้อยกว่าสังคม อเมริกัน อนึ่ง การเน้นการแข่งขันและการย้ำถึงความสำเร็จในชีวิตของสังคมอเมริกันมีสูงกว่า จึงกดดันให้เด็กสาวต้องต่อสู้และได้รับความกดดันในชีวิตมากกว่า

                การศึกษาของนักมานุษยวิทยาหญิงทั้งสองคนนี้ ถือได้ว่าเป็นแบบอย่างของการศึกษาในแง่วัฒนธรรมกับการสร้างบุคลิกภาพ โดยให้ความสำคัญของกฎระเบียบทางวัฒนธรรมว่าเป็นปัจจัยหลักในการปรุงแต่งบุคลิกภาพของคนในแต่ละสังคม