บทที่15 นักมานุษยวิทยาและผลงาน  >> หน้า 4

 

3.โบรนิสลอว์ มาลินอฟสกี้ (Bronislaw Malinowski)

                เป็นชาวโปแลนด์ แต่ได้รับการศึกษาวิชามานุษยวิทยาที่ประเทศอังกฤษ จากนั้นเขาเดินทางออกไปศึกษาด้วยการไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวเกาะโทรเบรียน ในหมู่เกาะทะเลใต้ ระหว่างปี คศ.1915-1918 เพื่อศึกษาวัฒนธรรมของสังคมแห่งนั้น แม้ว่าวิธีการศึกษาของเขาจะคล้ายคลึงกับของโบแอสก็ตาม แต่เป้าหมายของการวิจัยของเขาแตกต่างจากของโบแอส กล่าวคือ แทนที่จะสืบสาวราวเรื่องของการพัฒนาวัฒนธรรม แต่เขากลับค้นพบว่า วัฒนธรรมทุกประเภทของชาวเกาะต่างทำหน้าที่ในการตอบสนองความต้องการของสมาชิกของสังคมนั้น ๆ ทำให้เขาได้สร้างทฤษฎีหน้าที่ประโยชน์นิยมขึ้น เพื่ออธิบายว่า วัฒนธรรมของสังคมนั้นจะได้รับการสร้างขึ้นอย่างมีระบบและเป็นเหตุเป็นผลเพื่อทำหน้าที่ในการตอบสนองความต้องการของสมาชิกในสังคม ทั้งที่เป็นความต้องการทางชีวภาพและความต้องการทางสังคม ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อสามารถรักษาเสถียรภาพ ดุลยภาพ และสร้างความผูกพันภายในสังคมอย่างดีที่สุด

 

4.  อัลเฟรด เรดคลิฟ - บราวน์ (Alfred R. Radcliffe - Brown)

                เรดคลิฟ - บราวน์เกิดและได้รับการศึกษาในประเทศอังกฤษ จากนั้น ได้ออกไปทำการศึกษาวิจัยชาวเกาะอันดามันระหว่างปี ค.ศ. 1906 - 1908 และในช่วงปี ค.ศ. 1910 - 1912 เขาไปทำวิจัยชาวพื้นเมืองทวีปออสเตรเลีย หลังจากนั้น เรดคลิฟ - บราวน์ทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนวิชามานุษยวิทยาตามมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลก

                เรดคลิฟ - บราวน์เรียกตัวเขาเองว่าเป็นนักทฤษฎีหน้าที่ประโยชน์นิยม ดังเช่นมาลินอฟสกี้ แต่ความสนใจของเขายังได้เน้นถึงความสำคัญของ "โครงสร้างทางสังคม" ควบคู่ไปด้วย โดยเขาอธิบายว่า โครงสร้างทางสังคมก็คือสายใยแห่งความสัมพันธ์ของคนในสังคมซึ่งแยกการกระทำต่อกันทางสังคมออกเป็นหมวดหมู่ตามกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกัน ดังเช่น กิจกรรมในหมวดเศรษฐกิจ การเมือง ครอบครัว ศาสนา ครอบครัว และสันทนาการ ความสัมพันธ์ในกลุ่มกิจกรรมแต่ละประเภทนี้เรียกได้ว่าเป็นสถาบันทางสังคม ซึ่งสถาบันเหล่านี้จะมีความเกี่ยวข้องกันและกัน อันหมายถึงการประกอบกันขึ้นเป็นโครงสร้างสังคม องค์ประกอบในโครงสร้างของสังคมนี้เองที่เป็นวัฒนธรรมที่จะทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของสมาชิกสังคมนั้น ๆ

                ดังนั้น ชื่อเสียงของเรดคลิฟ - บราวน์จึงได้รับการยอมรับในนามของผู้ก่อตั้งทฤษฎีโครงสร้าง - หน้าที่ประโยชน์นิยม (Structural - Functionalism)