บทที่15  นักมานุษยวิทยาและผลงาน   >> หน้า 10

 

2.  สำนักจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันแห่งแรกของประเทศที่เปิดสอนในระดับชั้นปริญญาตรีสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาอย่างเป็นทางการขึ้นในปี พ.ศ. 2506 ปัจจุบัน ได้เปิดสอนวิชามานุษยวิทยาในระดับปริญญาโท จุฬาฯ เป็นแหล่งผลิตนักมานุษยวิทยาที่มีชื่อเสียงอยู่ในขณะนี้เป็นจำนวนมาก สำหรับคณาจารย์ของสำนักนี้มีความเชี่ยวชาญและทำการศึกษาวิจัยสังคมและวัฒนธรรมเกือบทุกสาขา

                ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ มีสถาบันวิจัยสังคม ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นและบริหารงานโดยนักมานุษยวิทยาตั้งแต่ปี พ.ศ.2511 (ยกเว้นบางช่วง) สถาบันวิจัยสังคมมีผลงานการวิจัยเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยมากมาย และมีชื่อเสียงทางด้านวิชาการไปทั่วโลก

  3.  สำนักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                คณะสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดสอนชั้นปริญญาตรีสาขามานุษยวิทยาร่วมกับสาขาสังคมวิทยา และเปิดสอนระดับปริญญาโทในสาขามานุษยวิทยา คณาจารย์ของสถาบันแห่งนี้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านมานุษยวิทยาเป็นจำนวนมาก ดังที่ปรากฏโดยทั่วไป ได้แก่ ความเชี่ยวชาญในด้านมานุษยวิทยาสิ่งแวดล้อม มานุษยวิทยากับการวิเคราะห์ตามแนวของคาร์ล มาร์กซ์ มานุษยวิทยากับชุมชนศึกษา และมานุษยวิทยากายภาพ เป็นต้น

4.  สำนักมหาวิทยาลัยศิลปากร

                ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นสถาบันแห่งเดียวในประเทศที่เน้นสอนเฉพาะสาขามานุษยวิทยาในชั้นปริญญาตรี-โท มีคณาจารย์ที่สนใจในแง่มานุษยวิทยาโบราณคดี และมานุษยวิทยาก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของสถาบันนี้ นอกจากนี้ยังมีโครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ทางมานุษยวิทยาขึ้นอีกด้วย

                มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ผลิตงานทางด้านมานุษยวิทยาโบราณคดี ชุมชนศึกษา ชาติพันธุ์ศึกษาในแถบสุวรรณภูมิ มานุษยวิทยาเชิงนิเวศ วัฒนธรรมพื้นบ้านจากคำบอกเล่า ฯลฯ