บทที่15  นักมานุษยวิทยาและผลงาน   >> หน้า 11

 

5.  สำนักมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

                ภาควิชาสังคมวิทยา - มานุษยวิทยา  คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดสอนสาขามานุษยวิทยาร่วมกับสาขาสังคมวิทยาในระดับปริญญาตรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507  ในยุคแรกได้รับการสนับสนุนทางการเงินและทางวิชาการจากสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมัน และฝรั่งเศส โดยเน้นศึกษาสังคมวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย และชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ที่อาศัยในภาคเหนือดังนั้นอาจารย์และนักศึกษาต่างร่วมงานกับศูนย์วิจัยชาวเขาของกรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัย เพื่อค้นหาความรู้เรื่องราวของคนและสังคมของชนกลุ่มน้อย และได้ผลิตผลงานเป็นจำนวนมากพร้อม ๆ กับการผลิตบัณฑิตในสาขานี้ไปด้วย

              ปัจจุบัน คณาจารย์มีผลงานการวิจัยในเรื่องชาวนาศึกษา ชุมชนกับป่าไม้ การชลประทานพื้นบ้าน และสังคมวัฒนธรรมล้านนา เป็นต้น

                สถาบันวิจัยสังคมเป็นสถาบันวิจัยที่บริหารและดำเนินการโดยอาจารย์ที่มีพื้นความรู้ทางมานุษยวิทยา อนึ่ง ศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมล้านนาเป็นที่รวบรวมงานและผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมและชุมชนต่าง ๆ ในภาคเหนือตอนบนของไทยไว้ อันจักก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้สนใจศึกษาวิชามานุษยวิทยาเป็นอย่างยิ่ง

 

6.  สำนักมหาวิทยาลัยรามคำแหง

                ปัจจุบันภาควิชาสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เปิดสอนระดับปริญญาตรีสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และคณาจารย์ต่างได้เขียนตำราในสาขานี้ไว้หลายเล่มเช่น มานุษยวิทยาเบื้องต้น วัฒนธรรมและบุคลิกภาพ มานุษยวิทยาเชิงเศรษฐกิจ และครอบครัวและวงศ์วาน

                 มีอาจารย์บางท่านได้ฉีกแนวการค้นคว้าวิจัยในเรื่องสังคมวัฒนธรรมของเกาหลี (ในขณะที่นักมานุษยวิทยาไทยส่วนใหญ่ให้ความสนใจศึกษาวิจัยเฉพาะสังคมไทยและของชนกลุ่มน้อยในประเทศเป็นหลัก) โดยได้ทุ่มเทเวลากว่า 10 ปี เพื่อผลิตผลงานด้านเกาหลีศึกษา อาทิเช่น สังคมและวัฒนธรรมของเกาหลี เกาหลีใต้ : บทบาทของรัฐในการพัฒนาประเทศ การบริหารงานแบบเกาหลี การเมืองกับการพัฒนาของเกาหลีใต้ ฯลฯ ความรู้ที่ได้รับก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเรียนรู้เรื่องราวของประเทศเกาหลี ต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และต่อการศึกษาด้านการตลาดและเศรษฐกิจระหว่างไทย-เกาหลี อนึ่ง ศูนย์เกาหลีศึกษาได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นอาศรมความรู้ และเป็นแหล่งผลิตองค์ความรู้ในเรื่องนี้โดยเฉพาะอีกด้วย