บทที่ 1 อรัมภบท  >> หน้า 8


          สำหรับนักวิชาการชาวอังกฤษนั้น มักเน้นศึกษาเนื้อหาสาระด้านความสัมพันธ์ของคนในแต่ละสังคมที่ร่วมกันสร้างและประพฤติปฏิบัติ (หรือแสดงพฤติกรรม) ต่อกันในกิจกรรมทางสังคมในแง่ครอบครัว เศรษฐกิจ การเมือง ศาสนาและความเชื่อ การศึกษาและฝึกฝนอบรมการเรียนรู้ทางสังคม และนันทนาการ ได้เรียกองค์ความรู้ในสาขานี้ว่ามานุษยวิทยาสังคม (Social Anthropology)

        ลักษณะเนื้อหาสาระของวิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรมและวิชามานุษยวิทยาสังคมได้นำไปกล่าวอย่างละเอียดในบทที่ 8

          เมื่ออิทธิพลของศิลปวิทยาการของชาติตะวันตกได้แผ่ขยายเข้ามาในประเทศไทย คนไทยตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องรับเอา "วิธีการศึกษาที่เป็นระบบ" หรือ "ศาสตร์" มาใช้ในการปรับปรุงระบบการศึกษาของไทย ดังที่พระยาอนุมานราชธนกล่าวอยู่เสมอว่า "สิ่งที่เราศึกษาต้องมีกรอบเป็นเครื่องรองรับ จึงจะทำให้เกิดความเข้าใจ"(12) อย่างถ่องแท้และเป็นเหตุผลอันง่ายต่อการเสริมเติมแต่งความรู้ต่อไปในอนาคต นั่นหมายความว่า ท่านได้เริ่มให้ความสนใจที่จะใช้กรอบความคิดและระเบียบวิธีศึกษาทางมานุษยวิทยาตะวันตกมาเป็นแนวทางในการศึกษาสังคมและวัฒนธรรม จึงเป็นผลให้สาขาวิชามานุษยวิทยาในประเทศไทยเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและก้าวหน้ามาจนถึงทุกวันนี้


แนวการจัดลำดับหนังสือ

          หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อให้ผู้เริ่มเรียนขั้นต้นของชั้นปริญญาตรี ทั้งที่จะเลือกเรียนวิชามานุษยวิทยาเป็นวิชาเอกและ/หรือเรียนเป็นวิชาพื้นฐาน และวิชาเลือกเสรีในมหาวิทยาลัย วิทยาลัย และสถานศึกษาทุกแห่ง และผู้เริ่มเรียนชั้นปริญญาโทที่ขาดความรู้พื้นฐานในสาขาวิชามานุษยวิทยาได้มีความรู้ความเข้าใจถึงขอบเขตเนื้อหาสาระ ระเบียบวิธีการศึกษา และการใช้ประโยชน์จากวิชาเกี่ยวกับมนุษย์และสังคมวัฒนธรรมในมุมกว้าง

          จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ก็คือ การศึกษาหรือมองวิชามานุษยวิทยาจากสายตาของคนไทย เพื่อชี้ชัดว่าคนไทยได้ให้ความสนใจศึกษาเรื่องคนและสังคมวัฒนธรรมมานาน และการศึกษาสาขาวิชานี้จะก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงแก่ประชาชนชาวสยามอย่างแท้จริง จริงอยู่องค์แห่งความรู้ที่เป็นระบบจะมีรากฐานมาจากชาวยุโรปและอเมริกา และพวกเขาต่างใช้ประโยชน์