บทที่1  อรัมภบท  >> หน้า 6

มานุษยวิทยาคืออะไร

          มานุษยวิทยาเป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ในทุกแง่ทุกมุม โดยคำว่า Anthropology เป็นคำผสมในภาษากรีกสองคำ คือ Anthropos แปลว่ามนุษย์หรือคน ส่วน logos แปลว่าการศึกษาหรือศาสตร์หรือความรู้ที่ได้รับการจัดให้เป็นระบบ เมื่อนำคำสองคำนี้มาผสมกันแล้วจึงมีความหมายว่า "วิชาที่ศึกษาเรื่องมนุษย์ทุก ๆ ด้าน"

          จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าวิชานี้มีขอบเขตกว้างขวางมาก เพราะเป็นการศึกษาครอบคลุมเกี่ยวกับ "ตัวมนุษย์" และ "ผลงานทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์"(11) ดังนั้น เราจึงแบ่งเนื้อหาสาระของวิชานี้ออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ

 1. การศึกษาเกี่ยวกับตัวมนุษย์

          เนื้อหาสาระกลุ่มแรกนี้ ก็คือ วิชามานุษยวิทยาศึกษาเกี่ยวกับตัวมนุษย์ หมายถึงศึกษาถึงสรีรวิทยาทางชีวภาพที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวมนุษย์ (physical or biological characteristics of human population) เพื่อตอบคำถามหลัก 2 ข้อ คือ

          (1) การวิวัฒนาการของมนุษย์ (human evolution) ในข้อนี้มุ่งเน้นที่จะตอบคำถามที่ว่า “มนุษย์มาจากไหน” “ใครคือบรรพบุรุษของมนุษย์” “มนุษย์กับสัตว์คล้ายคลึงหรือแตกต่างกันอย่างไร” และ “เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น” การที่จะได้รับคำตอบที่ถูกต้องและมีระบบ จำเป็นต้องค้นหาคำตอบด้วยการย้อนอดีตไปนับตั้งแต่โลกได้กำเนิดขึ้นครั้งแรก ซึ่งต่อมาก็เกิดสิ่งมีชีวิตขึ้น และวิวัฒนาการเรื่อยมา จุดสนใจหลักของนักมานุษยวิทยาก็คือ การศึกษาโครงสร้างทางสรีระของสิ่งมีชีวิตจนกระทั่งกลายเป็นมนุษย์ขึ้น โดยวิเคราะห์ว่าอะไรที่เป็นปัจจัยหรือแรงผลักดัน ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างทางร่างกาย และลำดับขั้นตอนของการวิวัฒนาการจนกลายเป็นมนุษย์ในสกุลโฮโมเป็นอย่างไร

          (2) ความแตกต่างระหว่างมนุษย์ยุคปัจจุบัน (human variation) ภายหลังที่เราเรียนรู้ว่ามนุษย์สกุลโฮโมได้วิวัฒนาการมาจนถึงจุดสูงสุดแล้ว คำถามในข้อที่สองนี้ก็คือ "เหตุใดยังปรากฏความแตกต่างในหมู่มนุษยชาติในยุคปัจจุบัน"