ภาคผนวก วิธีวิทยาการวิจัยเชิงมานุษยวิทยา>> หน้า 27

 

                จากการศึกษาพบว่า ค่านิยมของสังคมชาวเขมร (จากประเทศเขมรเดิม) ต่อลูกสาวก็คือการรักษาความบริสุทธิ์จนกระทั่งแต่งงานและการเตรียมตัวเป็นเจ้าสาวที่ดี เด็กชายชาวเขมรเท่านั้นที่จะได้รับการส่งเสริมให้เรียนหนังสือและได้รับการประเมินค่าสูง เพื่อจะได้มีโอกาสเลือกทำงานนอกบ้านที่ดีเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ดังนั้นเด็กหญิงเมื่อโตขึ้นก็จะแต่งงานอยู่ดูแลงานบ้าน  เลี้ยงลูก จึงไม่จำเป็นต้องศึกษาเล่าเรียน

                ในเรื่องของการศึกษาและการขัดเกลาทางสังคมนั้น พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกสาวของตนไปเรียนหนังสือเพราะเกรงว่าจะเป็นสาเหตุทำให้เธอเขียนจดหมายไปหาคนรักได้ ซึ่งถือว่าเป็นการทำให้ครอบครัวเสียหน้ามาก การรักษาความบริสุทธิ์ของหญิงสาวมีความสำคัญต่อการมีหน้ามีตาของครอบครัวมาก เด็กสาวจึงถูกควบคุมความประพฤติมากกว่าเด็กชาย เมื่อเด็กสาวชาวเขมรมีประจำเดือนครั้งแรก จะต้องเข้าสู่พิธี "การเข้าสู่ความมืด" โดยถูกขังไว้ในห้องเป็นเวลานานราว 21-90 วัน ระหว่างนี้จะรับประทานข้าว งา และมะพร้าวเป็นอาหาร ผู้หญิงที่อยู่ในพิธีนี้เป็นระยะเวลานานกว่าคนอื่นจะกลายเป็นผู้น่าพิสมัยของชายหนุ่ม และจะทำให้เธอมีค่าตัวสูงเมื่อยามมั่นหมาย อนึ่ง เด็กหญิงจะได้รับการอบรมให้มีลักษณะขี้อาย เก็บตัว และไม่แสดงออกในเรื่องต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าผู้หญิงเขมรทุกคนกระทำตามแบบอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มีบางคนหนีไปกับคนรัก หรือปฏิเสธการแต่งงานกับชายที่พ่อแม่เลือกไว้ให้ ซึ่งเรื่องราวเช่นนี้มีปรากฏในนิทานพื้นบ้าน วรรณกรรม บทเพลงและภาพยนต์สมัยใหม่

                เมื่อครอบครัวอพยพไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา สภาพทางเศรษฐกิจยังผลให้สามีและภรรยาชาวเขมรต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว ทัศนคติจึงเปลี่ยนเป็น "ทุกคนต้องช่วยกันเพื่อให้ครอบครัวอยู่รอด" พ่อแม่ชาวเขมรจึงเห็นว่าการศึกษามีความสำคัญต่อทั้งเด็กชายและเด็กหญิงเพื่อให้พวกเขาจะได้มีโอกาสที่ดีในการเลือกงานอาชีพในอนาคต อย่างไรก็ดีเด็กผู้หญิงก็ยังคงถูกคาดหวังให้ช่วยงานบ้านและดูแลน้อง ๆ หากพวกเธอละเลยก็จะถูกแม่ดุว่า "จะไม่มีใครแต่งงานกับเธอ"