ภาคผนวก วิธีวิทยาการวิจัยเชิงมานุษยวิทยา>> หน้า 26

 

                เมื่อได้รับรายชื่อผู้นำที่เรียงลำดับ 1-20 แล้วก็พิจารณาดูว่าครูอยู่ในกลุ่มหรืออยู่ลำดับที่เท่าไหร่และกี่คน จากนั้นก็ศึกษาชีวประวัติของครูเหล่านั้นเพื่อดูว่าทำไมพวกเขาจึงเลือกอาชีพนี้  และมีทัศนคติอย่างไร ต่อการเป็นครูประชาบาล ในขั้นสุดท้าย ศึกษาถึงระบบราชการ ศึกษาชุมชน  และเป้าหมายของความสำเร็จของการเป็นครู

                ผลการวิเคราะห์พบว่าระบบราชการไม่มีส่วนเป็นแรงจูงใจให้ครูเข้าไปร่วมกิจกรรมของชุมชนในระดับสูงสุดเพราะระบบราชการกำหนดแรงจูงใจ เช่นการให้รางวัล การเลื่อนตำแหน่งความดีความชอบและการได้รับเงินเดือนขึ้นสองขั้น มีผลในทางลบต่อการเข้าไปมีส่วนร่วม ในการพัฒนาชนบทและในกิจกรรมของชุมชน

                บทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานการวิจัยทั้งหมด

 

ตัวอย่างที่ 2                การศึกษา เพศ และความขัดแย้งระหว่างวัยของชาวเขมรอพยพ

                Nancy J. Smith-Hefner, "Education, Gender, and Generational Conflict among Khmer Refugees," Anthropology and Education Quarterly 24:2 (June 1993), pp. 135-158

                ผู้เขียนเริ่มต้นบทความด้วยการกล่าวว่าในปัจจุบัน การวิจัยของนักสังคมวิทยาได้ก่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อผลการเรียนของเหล่าชนกลุ่มน้อย กลุ่มต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา   แต่งานวิจัยดังกล่าว ได้ผลสรุปที่ไม่ค่อยตรงกันมากนักในเรื่องอิทธิพลทางสังคมที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของชนกลุ่มน้อย ในส่วนของงานของนักชาติพันธุ์วิทยา (หรือนักมานุษยวิทยา) ได้พุ่งความสนใจไปที่ปัจจัยทางวัฒนธรรมและปัจจัยทางประวัติศาสตร์สังคมเพื่ออธิบายว่าทำไมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กเขมรอพยพจึงแตกต่างจากชนกลุ่มน้อยที่อพยพไปจากเอเซียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี) และจากเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในบทความนี้ประกอบด้วยเรื่องราวของผู้อพยพชาวเขมร อันเป็นการศึกษาชนกลุ่มน้อย บทบาททางเพศ ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ และความขัดแย้งระหว่างวัย เพื่อที่จะค้นหาเหตุผลที่ว่า ทำไมเด็กสาวชาวเขมรจึงออกจากโรงเรียนก่อนจบการศึกษาในอัตราร้อยละที่สูงมาก ผู้เขียนใช้วิธีวิทยาการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณา (Ethnographic study) กับชาวเขมรอพยพเป็นเวลา 30 เดือน