ภาคผนวก วิธีวิทยาการวิจัยเชิงมานุษยวิทยา>> หน้า 25

 

ตัวอย่างการศึกษาเชิงมานุษยวิทยาในสาขาครุศาสตร์

 

ตัวอย่างที่ 1  ครู การพัฒนาชนบทและระบบราชการในประเทศไทย

                Robert Gurevich, "Teachers, Rural Development and the Civil Service in Thailand," Asian Survey 15:10 (1975), pp. 870-881.

                บทความนี้เป็นข้อเขียนของ โรเบอร์ท กูเรวิช  ผู้ซึ่งได้มาทำวิจัยเรื่อง Khru: A Study of Teachers in a Thai Village เพื่อใช้เป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกสาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยพิทท์สเบอร์ก ต่อมา ได้ทำงานเป็นอาจารย์สาขามานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา

                ผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องด้วยการอ้างว่าชาวบ้านในชนบทของไทยต่างมีความหวาดระแวงสงสัยและไม่ไว้ใจในตัวข้าราชการไทยมาเป็นเวลาช้านาน ความระแวงดังกล่าวยังผลให้เกิดความล้มเหลวในการพัฒนาชนบท แต่ครูในโรงเรียนประชาบาลผู้ซึ่งเป็นข้าราชการเช่นกัน กลับได้รับความไว้ใจในการเป็นผู้นำชุมชนและได้รับการยกย่องนับถือในฐานะที่เป็นผู้มีความรู้สูงกว่าชาวบ้านธรรมดาทั่วไป รวมทั้งบทบาทของครูในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนก็มีสูงมากเป็นเวลาช้านานมาแล้ว แต่ในยุคปัจจุบันครูประชาบาลได้รับการผูกติดกับระบบราชการส่วนกลาง ทำให้ไม่มีความสำนึกที่จะร่วมกิจกรรมของชุมชนจึงกลายสภาพเป็นเสมือนข้าราชการของหน่วยงานอื่น ๆ จากสมมติฐานดังกล่าว ผู้เขียนจึงพยายามค้นหาคำตอบว่า ปัจจัยใดที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของครูที่อาศัยอยู่ และ/หรือทำงานในโรงเรียนประจำหมู่บ้านที่ไม่สนับสนุนส่งเสริมให้ครูเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนดังเช่นในอดีต

                ผู้เขียนได้ออกไปทำวิจัยในสนาม ซึ่งเป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเวลา 1 ปี (ค.ศ.1969-1970) โดยใช้วิธีการศึกษาเชิงมานุษยวิทยาด้วยการศึกษาวิเคราะห์ตัวละครทุกคนที่มีบทบาทในกิจกรรมของชุมชนแห่งนั้น ได้สอบถามสัมภาษณ์สมาชิกของชุมชนในเรื่องบทบาทของคนเหล่านั้น และได้ศึกษาสถานภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และครอบครัวของผู้นำทุกคน นอกจากนี้ให้ชาวบ้านดูรูปภาพของผู้นำทุกคน จากนั้นก็ให้ชาวบ้านจัดลำดับมากน้อยของผู้นำแต่ละคนที่มีส่วนร่วมกิจกรรมในชุมชน