ภาคผนวก วิธีวิทยาการวิจัยเชิงมานุษยวิทยา>> หน้า 23

 

                ข.                Archival and demographic collection หมายถึงการเก็บข้อมูลที่มีปรากฏหรือได้รับการบันทึกไว้แล้วหรือเป็นสัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นไว้เพื่อการนับเลข หรือรอยสักบนร่างกายของประชากรที่ถูกศึกษา

                ค.                Physical trace collection หมายถึง ศึกษาข้อมูลที่เป็นวัตถุโบราณ เครื่องมือที่หักพัง กระเบื้องเก่า ๆ ที่แตก ลายนิ้วมือนิ้วเท้า และสิ่งอื่นใดที่ปรากฏอยู่ในและบริเวณใกล้เคียงกับสนามที่ศึกษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักวิจัยที่จะสืบสาวหาเรื่องราวย้อนยุคไปในอดีต อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจถึงพฤติกรรมทางสังคมของคนเหล่านั้นได้มาก

                ประการสุดท้าย Pophams กล่าวว่า หากนักวิจัยทางการศึกษา ได้นำวิธีวิทยาการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วิทยานี้ไปใช้ จะได้รับข้อมูลที่ลุ่มลึกและมีคุณค่ายิ่ง จะช่วยให้สามารถนำผลการวิจัยไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพของโครงการพัฒนาการศึกษาได้ดียิ่งขึ้น

                ที่กล่าวมานี้ เป็นความพยายามของนักการศึกษาที่พยายามจำแนกและตั้งชื่อเทคนิค  ต่าง ๆ ในการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ อันจะเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งและช่วยปรับปรุงเทคนิคทั้งที่เป็นแบบรายการที่มีโครงสร้าง (structured schedules) มากขึ้นเพื่อลดอคติและก่อให้เกิดความรัดกุมในการเก็บข้อมูล ทำให้สามารถดำเนินการวิจัยให้ได้รับผลตรงกับเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเทคนิคที่นักมานุษยวิทยาได้เรียนรู้และสำนึกอยู่ตลอดเวลาในขณะที่ทำวิจัยเก็บข้อมูล เพราะหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เป็นประเด็นที่อยู่ในเนื้อหาวิชาที่ต้องเรียนรู้ก่อนการออกไปทำงานในสนาม12

                อนึ่ง อาจมีคำถามว่า อคติจะเกิดขึ้นไหม หากผู้วิจัยจะไปทำงานการวิจัยในหมู่บ้านเกิดหรือสถานที่ทำงานที่ตนสังกัดอยู่ คำตอบอาจแตกต่างกันออกไป แต่โดยแท้จริงแล้วผู้วิจัยสามารถทำการศึกษา ณ ที่แห่งใดก็ได้ หากได้รับการฝึกฝนทั้งเนื้อหาและวิธีวิทยาการวิจัยมาอย่างดี เพราะผู้วิจัยจะเป็น "คนใหม่"ในสังคมที่เขากำลังศึกษา อย่างไรก็ดี หากผู้วิจัยหลีกเลี่ยงที่จะทำการศึกษาชุมชนบ้านเกิด/สถานที่ทำงานของตนได้ก็น่าจะเป็นการดี ทั้งนี้เพราะ (1) เป็นสถานที่ที่ตนรู้เรื่องราวต่าง ๆ เป็นอย่างดีอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีความจำเป็นที่จะต้องทำการวิจัยอีก และ (2) อาจมีการใช้อิทธิพล และ/หรือสายใยความสัมพันธ์ (social network) ที่จะส่งผลให้งานวิจัยเกิดอคติได้ง่าย

                ดังนั้น สนามที่ศึกษาควรเป็นสถานที่ที่อยู่ข้างเคียง หรือสถานที่อื่นที่ตนไม่รู้จักมาก่อน อาจจะได้รับผลการวิจัยที่น่าสนใจยิ่ง