ภาคผนวก วิธีวิทยาการวิจัยเชิงมานุษยวิทยา>> หน้า 14

               

ดังนั้นการเปิดหูเปิดตาเพื่อตรวจสอบข้อมูลในขณะที่สัมภาษณ์จะทำให้ล่วงรู้ถึงแง่มุมที่ไม่ถูกต้องได้ ดังตัวอย่างเช่น การที่ชาวนาในจังหวัดปราจีนบุรีไม่นิยมปลูกข้าวโพดพันธุ์ใหม่ มิใช่เป็นเพราะพวกเขาไม่ต้องการที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น หรือขี้เกียจ หรือต่อต้านการนำพืชพันธุ์ใหม่ไปปลูก แต่เป็นเพราะข้าวโพดพันธุ์ใหม่มีรสหวานและไม่เป็นที่นิยมในการบริโภคของชาวบ้านแถบนั้น8 เป็นต้น

                (5)                นักมานุษยวิทยาไม่ควรใช้ค่านิยม (value) ของตนเข้าไปวัดพฤติกรรมของคนในสังคมที่กำลังศึกษา เช่น ความเป็นเหตุเป็นผล (rationality) ของคนในสังคมเมือง อาจเป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ แต่ของคนในสังคม/กลุ่มนั้นอาจมีความเป็นเหตุเป็นผลแตกต่างกันออกไป Karl Polanyi นักมานุษยวิทยาผู้มีชื่อเสียงได้แยกความแตกต่างระหว่างการใช้หลักตรรกศาสตร์ (formalmeaning) กับการกระทำที่เป็นจริง (substantive meaning) ว่า

                การศึกษาโดยใช้หลักตรรกศาสตร์นั้นเป็นการศึกษาที่ใช้หลักตรรกวิทยาเพื่อนำมาตั้งเป็นกฎเกณฑ์ขึ้น กฎเหล่านี้จะใช้เป็นหลักในการตัดสินใจเพื่อเลือกใช้วิธีการหรือหนทางที่ดีที่สุดจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ส่วนการศึกษาที่ใช้ข้อเท็จจริงนั้นเป็นการศึกษาที่ดูจากพฤติกรรมที่แสดงออกจริง ๆ ของคนในสังคมว่าเป็นเช่นไร ทั้งนี้เพราะถือว่ามนุษย์ในสังคมนั้น ๆ ขึ้นอยู่กับธรรมชาติและเพื่อนร่วมสังคมของเขา โดยเน้นแนวความคิดที่ว่ามนุษย์จะต้องมีความสัมพันธ์ต่อกันภายใต้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และระบบสังคมของเขา....9

                ฉะนั้น นักมานุษยวิทยาควรจะอธิบายพฤติกรรม/ปรากฏการณ์นั้น ๆ ว่าเป็นเช่นใด  มีหน้าที่ประโยชน์ต่อสังคมนั้นอย่างไร มากกว่าที่จะใช้ค่านิยมของตนไปกำหนดว่า ดี/เลว ถูกต้อง/ไม่ถูกต้อง มีเหตุผล/ไม่มีเหตุผล