ภาคผนวก วิธีวิทยาการวิจัยเชิงมานุษยวิทยา>> หน้า 9

               

ได้แก่ ความพยายามที่จะศึกษาความสัมพันธ์/วัฒนธรรมเพื่อให้ได้รับข้อเท็จจริงมากที่สุด ผู้วิจัยจะต้องใช้ชีวิตอาศัยอยู่ร่วมและทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับคนกลุ่มนั้นเป็นระยะเวลานานพอที่จะทำความรู้จักแต่ละคนอย่างละเอียดถึงสถานภาพทางสังคมของพวกเขา อันจะทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่า เหตุใดเขาจึงแสดงบทบาทเช่นนั้นออกมา การอยู่ร่วมพร้อม ๆ กับการศึกษาและเก็บข้อมูลนี้เองที่เรียกว่า "การสังเกตแบบมีส่วนร่วม" (participant observation) อนึ่ง ประโยชน์ของการฝังตัวอยู่ร่วมกับกลุ่มประชากรที่ศึกษาเป็นระยะเวลานานจนได้รับการยอมรับว่าเป็นสมชิกคนหนึ่งของกลุ่มหรือสังคมนั้น ๆ ก็เพื่อลดความระแวงสงสัยและความไม่ไว้ใจอันเนื่องจากผู้วิจัยเป็น "คนภายนอก" ลงได้มาก นอกจากนี้ การเข้าไปอยู่ร่วมนาน ๆ ก็เพื่อจะดูว่ากลุ่มประชากรนั้นคิดและแสดงพฤติกรรมนั้นบนรากฐานของเหตุและผลในบริบทของพวกเขาอย่างไร นักมานุษยวิทยาเรียกว่า emic หรือระบบแนวคิด ความเชื่อของกลุ่ม/ชนที่เราไปศึกษา ซึ่งจะแตกต่างจากคำว่า etic หรือระบบแนวคิด หรือกรอบ/ทฤษฎีที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมของคนภายนอกหรือจากตัวผู้วิจัย ซึ่งมาจากต่างถิ่นและนำเอากรอบ/ทฤษฎี/ค่านิยมนั้น ๆ ไปเป็นเครื่องมือตรวจสอบพฤติกรรม/ความสัมพันธ์/วัฒนธรรมของชนที่กำลังศึกษา ในกรณีหลังนี้อาจทำให้ข้อมูลที่ได้รับไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

                การเฝ้าสังเกตพฤติกรรมให้ได้รับข้อเท็จจริงนั้น นักมานุษยวิทยาจะต้องเรียนรู้ภาษาของชนที่ไปศึกษาและจะต้องปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต/ความคิดความเชื่อของชนกลุ่มนั้นอย่างเคร่งครัด หากเกิดข้อสงสัยใด ๆ ในการกระทำ/ความสัมพันธ์/วัฒนธรรมใด ๆ จะต้องไต่ถาม และ/หรือเฝ้าสังเกตประเด็นที่สงสัยหลายครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถเข้าใจได้อย่างถูกต้องแน่นอนตามบริบทของผู้ถูกศึกษา