ภาคผนวก วิธีวิทยาการวิจัยเชิงมานุษยวิทยา>> หน้า 7

                ภายหลังที่นักมานุษยวิทยาได้พบข้อบกพร่องและข้อจำกัดของทฤษฎีวิวัฒนาการในการศึกษาสังคมและวัฒนธรรม เช่น ได้พิสูจน์ว่าวัฒนธรรมมิได้มีวิวัฒนาการเป็นเส้นตรงตามความเชื่อเก่า ๆ ที่ว่าจะวิวัฒนาการจากวัฒนธรรมของคนเถื่อน (savage) มาเป็นวัฒนธรรมของคนดั้งเดิม  (primitive) และเป็นวัฒนธรรมของผู้เจริญ (civilization) โดยได้มีการยกตัวอย่างความเจริญรุ่งเรืองของนครกรีก โรมัน อียิปต์ จีนและอินเดียโบราณ ซึ่งถือกันว่าเป็นอารยธรรมชั้นสูงที่คนยุคใหม่ยังต้องเรียนรู้อารยธรรมเหล่านี้อีกมาก ต่อมา อารยธรรมดังกล่าวก็ล่มสลายกลายเป็นสังคมด้อยความเจริญเมื่อเปรียบเทียบกับอารยธรรมของชาวยุโรปในยุคนี้ จากสภาพที่พลิกผันทางวัฒนธรรมนี้เอง ทำให้นักมานุษยวิทยาพยายามทำการศึกษาสังคมต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เพื่อหาทางตั้งทฤษฎีใหม่ ๆ โดยออกทำการสำรวจวิจัยวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก ตัวอย่างทฤษฎีที่เกิดขึ้น ได้แก่ ทฤษฎีหน้าที่ประโยชน์ ทฤษฎีโครงสร้างทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม    ทฤษฎีวัฒนธรรมและบุคลิกภาพ ทฤษฎีนิเวศวิทยาทางวัฒนธรรมและทฤษฎีโครงสร้างทางจิต เป็นอาทิ ผู้สนใจอาจหาอ่านรายละเอียดจากหนังสือที่เกี่ยวข้อง2