ภาคผนวก วิธีวิทยาการวิจัยเชิงมานุษยวิทยา>> หน้า 3

 

                จากผลการศึกษาของนักมานุษยวิทยาสตรีทั้งคู่ก่อให้เกิดข้อสงสัยในทฤษฎีของซิกมัน ฟรอยด์  ที่พยายามอธิบายปัจจัยทางด้านจิตวิทยาว่าเป็นปัจจัยสากลที่มีผลต่อบุคลิกภาพของมนุษย์ในทุกสังคม ผลการศึกษาครั้งนี้ยังเป็นผลให้มีการเรียกร้องเหล่านักวิชาการให้หันความสนใจอย่างจริงจัง ในการวิเคราะห์ความลุ่มลึกทุก ๆ ด้านของสภาพสังคมวัฒนธรรมที่เป็นจริงของแต่ละสังคมแทนการใช้ทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งที่อ้างว่าเป็นหลักสากลที่สามารถอธิบายพฤติกรรมและบุคลิกภาพของมนุษย์ได้ทั้งโลก อนึ่ง นักมานุษยวิทยาทั้งสองยังได้ย้ำว่า  การที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริงเป็นจังที่สามารถตรวจสอบได้นั้น  วิธีการเชิงมานุษยวิทยาสามารถกระทำได้อย่างลึกซึ้ง และได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ จากคำยืนยันดังกล่าว ทำให้วิธีวิทยาการวิจัยเชิงมานุษยวิทยาได้รับความสนใจและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

 

วิธีวิทยาการวิจัยเชิงมานุษยวิทยาเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

                คงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หากจะนำปรัชญาพื้นฐานของการศึกษาวิชามานุษยวิทยามากล่าวในเบื้องต้นพอสังเขปเสียก่อน เพื่อให้ผู้อ่านได้เรียนรู้และเพิ่มพูนความเข้าใจถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างองค์ความรู้ของสาขาวิชานี้กับระเบียบวิธีวิจัย  แทนที่จะหยิบเฉพาะวิธีวิจัยมาใช้โดยปราศจากการศึกษาประวัติความเป็นมาที่เป็นสาเหตุสำคัญของการพัฒนาการของระเบียบวิธีวิทยาการวิจัยในสาขาวิชานั้น ๆ

                มานุษยวิทยาเป็นวิชาที่ศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ ทั้งที่เป็นการศึกษารูปลักษณ์ทางชีวภาพ  และผลงานที่มนุษย์ผลิตขึ้น (หรือเรียกกันทั่วไปว่า สังคมและวัฒนธรรม) ในส่วนแรกที่เป็นการศึกษาทางชีวภาพนั้น ตั้งชื่อว่า วิชามานุษยวิทยากายภาพ (Physical Anthropology)  เน้นการศึกษาหัวข้อหลักสองหัวข้อ คือ (1) การวิวัฒนาการของมนุษย์ และ (2) ความแตกต่างระหว่างมนุษย์ยุคปัจจุบัน