ภาคผนวก วิธีวิทยาการวิจัยเชิงมานุษยวิทยา>> หน้า 2


วิธีวิทยาการวิจัยเชิงมานุษยวิทยา

                นับตั้งแต่นักมานุษยวิทยาสตรีชาวอเมริกันสองคน คือ Margaret Mead ได้นำผลงานของเธอชื่อ Coming of Age in Samoa ออกพิมพ์เผยแพร่ในปี คศ.1928 และ Ruth Benedict เสนอผลงานเรื่อง  Patterns of Cultures  ในปี คศ.1934 ผลงานดังกล่าวได้สร้างความฮือฮาให้กับวงวิชาการสาขามานุษยวิทยาอย่างกว้างขวาง  ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่นักวิชาการทั้งสองได้ฉีกแนวการศึกษาด้านวัฒนธรรมจากการที่เคยใช้ทฤษฎีประวัติศาสตร์  ทฤษฎีวิวัฒนาการ  และทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม มาเป็นแนวใหม่ นั่นคือ ทฤษฎีวัฒนธรรมกับบุคลิกภาพ  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นการนำปัจจัยด้านจิตวิทยามาใช้ในการศึกษาวัฒนธรรม

                มาร์กาเรต มีด ทำการวิจัยด้วยการไปอาศัยอยู่ร่วมกับชาวเกาะซามัวในช่วงเวลาหนึ่ง และเน้นศึกษาความสัมพันธ์ของสมาชิกของสังคมนั้นในเรื่องแบบแผนการอบรมเลี้ยงดูเด็ก  เช่น  ฝึกการขับถ่าย การให้อาหาร และการรักษาความสะอาด ตลอดจนการอบรมสั่งสอนทางวัฒนธรรม (socialization) ของพ่อแม่ มีดกล่าวว่าแบบแผนดังกล่าวมีผลต่อการก่อตัวเป็นรูปแบบเฉพาะของบุคลิกภาพในวัยผู้ใหญ่ของสมาชิกของสังคมซามัว  บุคลิกภาพของชนกลุ่มนี้จะมีลักษณะเด่นที่แตกต่างไปจากสังคมอเมริกันที่ซึ่งสภาพของสังคมและแบบแผนการอบรมเลี้ยงดูที่ไม่เหมือนกัน ส่วน รูธ เบเนดิคท์ ได้ศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบของวัฒนธรรมของชนสามกลุ่ม คือ ชาวอินเดียนแดงเผ่าพิวโบล เผ่าควาคิตอล และชาวเกาะโดบู เธอพบว่าชนเผ่าพิวโบล มีวัฒนธรรมที่เน้นบูรณาการ โดยมีการยอมรับ ยอมทำตาม  ร่วมมือกันและมีเครื่องยึดเหนี่ยวให้เกิดความผูกพันทางสังคมต่อกัน  รวมทั้งผู้คนต่างมีอุปนิสัยสงบเสงี่ยมเจียมตัว  ส่วนชนเผ่าควาคิตอล มีบุคลิกที่เน้นปัจเจกชนนิยมสูง นิยมความก้าวร้าว ชอบก่อความรุนแรง ชอบจัดพิธีกรรมฉลองเพื่อแสดงความตื่นเต้น ยินดี ความร่ำรวยและความเป็นหนึ่งในสังคม สำหรับชาวเกาะโดบูนั้น มีบุคลิกภาพที่ชอบอิสระเสรี แต่ขี้ระแวงสงสัย ไม่ไว้ใจใคร ประดุจกับคนที่มีปัญหาทางจิต จากรูปแบบบุคลิกภาพของชนทั้งสามกลุ่มที่ได้ศึกษา เบเนดิคท์  จึงสรุปว่า ความแตกต่างในเรื่องค่านิยม  การมองโลกและสภาพแวดล้อมทางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อให้เกิดรูปแบบทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชนแต่ละเผ่า เด็ก ๆ ของเผ่าควาคิตอล  จะได้รับประสบการณ์ที่มีการอบรมสั่งสอนในสังคมของตนและจะตั้งเป้าหมายในการดำรงชีวิตที่แตกต่างไปจากเด็กของเผ่าพิวโบล และเผ่าโดบู ดังนั้น กระบวนการของการอบรมสั่งสอนทางสังคมตั้งแต่เยาว์วัยจะมีผลให้แบบแผนของวัฒนธรรมของคนในสังคมแต่ละสังคมแตกต่างกันออกไป