ศัพท์สาขามานุษยวิทยาวัฒนธรรมและมานุษยวิทยาสังคม  >> หน้า 16

 

Socialization : 

                คำนี้ในภาษาไทยได้มีผู้แปลไว้มากมายหลายอย่าง เช่น การเรียนรู้ทางสังคม การขัดเกลาทางสังคม การทำคนให้เป็นคน สังคมกรณ์ และสังคมประกิต เป็นต้น แต่จะขอใช้คำว่า สังคมกรณ์ ความหมายนี้จะอธิบายได้ดังนี้ คนเราเมื่อคลอดจากครรภ์มารดา ถือได้เป็นเพียงสัตว์ชั้นสูงชนิดหนึ่งเท่านั้น หากทอดทิ้งไว้อย่างโดดเดี่ยวไม่ให้มีการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับมนุษย์ ทารกนั้นจะเติบโตขึ้นโดยมีลักษณะทางร่างกายเท่านั้นที่เป็นมนุษย์ ส่วนจิตใจความรู้สึกนึกคิดหาเป็นมนุษย์ไม่ แต่ถ้าทารกนั้นได้รับการเลี้ยงดูมาในหมู่คน ได้รับการอบรมสั่งสอนปลูกฝังวัฒนธรรม เขาก็จะมีสภาพเป็นมนุษย์ (human being) กระบวนการปลูกฝังวัฒนธรรมให้บุคคลเป็นสมาชิกของสังคมอย่างสมบูรณ์นี้ เรียกว่า สังคมกรณ์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง สังคมกรณ์เป็นวิธีการที่จะช่วยให้มนุษย์ปรับปรุงตัวให้เข้ากับสังคมได้ และดำรงชีวิตอยู่สังคมได้เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ 

                นักสังคมวิทยาถือว่าสังคมกรณ์เป็นวิธีการที่ทำให้คน ซึ่งตอนแรกมีสภาพเป็นอินทรีย์ทางชีววิทยา (biological organism) เปลี่ยนแปลงมาเป็นคน สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่นได้อย่างเต็มภาคภูมิ ทุกคนจะต้องผ่านกระบวนการสังคมกรณ์มาตั้งแต่เริ่มคลอดออกจากครรภ์มารดา กลุ่มแรกที่ทำหน้าที่สังคมกรณ์ก็คือครอบครัว เมื่อเด็กเจริญเติบโตก็มีการติดต่อสังสรรค์กับคนอื่น หรือต้องเข้าโรงเรียน เข้ามหาวิทยาลัย และเมื่อประอบอาชีพในหน่วยงานใด องค์การนั้น ๆ ก็ทำหน้าที่สังคมกรณ์ให้ด้วย เราอาจแบ่งขั้นตอนของสังคมกรณ์ออกเป็นขั้น ๆ ดังนี้

                1.                ขั้นแรกเมื่อทารกเริ่มคลอดออกจากครรภ์มารดา ทารกจะไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างคนต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับตนได้ระยะนี้ทารกจะเรียกร้องการเลี้ยงดูด้วยการส่งเสียงร้อง กระบวนการอบรมเด็กในขั้นแรกนี้โดยทั่วไปมารดาจะเป็นผู้อบรม