ศัพท์สาขามานุษยวิทยาวัฒนธรรมและมานุษยวิทยาสังคม  >> หน้า 17

 

                2.                ขั้นที่สอง เป็นระยะที่ทารกสามารถจำและแยกแยะได้ว่าใครคือมารดาของตน และใครคือคนอื่น ทารกจะสามารถรับรู้ถึงความแตกต่างระหว่างการเลี้ยงดู ความรัก และการให้คุณให้โทษ ซึ่งเป็นวิธีการเริ่มหัดให้เด็กกระทำในสิ่งที่ถูกที่ควรตามวัฒนธรรมที่มีอยู่ในสังคมนั้น

                3.                ขั้นที่สาม เป็นขั้นที่เด็กเริ่มเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างเพศสัมพันธ์ ชีวิตเด็กเริ่มขยายวงจากสังคมภายในครอบครัวออกไปนอกบ้าน เด็กจะสามารถเห็นความแตกต่างในบทบาทของบิดามารดาพี่น้อง และรู้จักความรัก ทนุถนอมจากเพศตรงข้าม ในระยะนี้เด็กชายจะแสดงอัตลักษณ์ของการเป็นผู้ชาย และเด็กหญิงจะแสดงอัตลักษณ์ของผู้หญิง

                4.                ขั้นที่สี่ เป็นระยะที่เด็กโตจนถึงขนาดที่เรียกว่าวัยรุ่น ในระยะนี้เด็กต้องการความอิสระและได้เรียนรู้ประสบการณ์พบเห็นความสลับซับซ้อนของสังคมมากขึ้น เด็กจะออกไปสู่โลกกว้างเริ่มพบเห็นโลกจริง ๆ และเป็นระยะที่เด็กมีปัญหาว้าวุ่นมาก พฤติกรรมของเด็กในระยะนี้ ถ้าขาดการอบรมสั่งสอนที่ดี จะเป็นบ่อเกิดของพฤติกรรมที่ขัดต่อข้อบังคับของสังคมได้ง่าย

                5.                ขั้นที่ห้า เป็นตอนที่ทุกคนเป็นผู้ใหญ่ มีความเจริญทั้งทางกายและจิตใจ มีความรู้สึกนึกคิดเป็นผู้ใหญ่สมบูรณ์ และเป็นสมาชิกของสังคมได้อย่างเต็มภาคภูมิ อย่างไรก็ตาม ในระยะที่บุคคลมีความเจริญบรรลุภาวะสุกถึงขีด บุคคลก็ยังจะต้องผ่านกระบวนการสังคมกรณ์อยู่ตลอดไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่

 

Marginal man : 

                คนชายขอบ - บุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเต็มบทบาทในกลุ่มสังคมใดสังคมหนึ่ง เป็นผู้ที่เข้ากลุ่มสังคมนั้นได้ไม่สนิท

 

Minority group : 

                ชนกลุ่มน้อย - กลุ่มคนซึ่งกำหนดโดยขนาดหรือส่วนของประชากรว่ามีจำนวนน้อยกว่าประชากรส่วนใหญ่ กล่าวคือเป็นกลุ่มย่อย ซึ่งมีแบบอย่างวัฒนธรรมย่อยอยู่ภายในสังคมใหญ่ ชนกลุ่มน้อยในสังคมต่าง ๆ มีเอกลักษณ์หรือพันธะผูกพันกันด้วยเชื้อชาติ (ชาติพันธุ์) สัญชาติ ศาสนา หรือลักษณะอื่น ๆ ทางวัฒนธรรมที่เห็นได้ชัดเจนว่าต่างไปจากชนส่วนใหญ่ของสังคม ในสังคมที่มีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติพบว่า ชนกลุ่มน้อยตกอยู่ในฐานะที่ถูกเดียดฉันท์ และได้รับการปฏิบัติไม่เท่าเทียมกับคนกลุ่มใหญ่