ศัพท์สาขามานุษยวิทยาวัฒนธรรมและมานุษยวิทยาสังคม  >> หน้า 15

 

ศัพท์สาขามานุษยวิทยาวัฒนธรรมและมานุษยวิทยาสังคม

Culture : 

                วัฒนธรรม เป็นชื่อรวมสำหรับแบบอย่างของพฤติกรรมทั้งหลายที่ได้มาทางสังคม และที่ถ่ายทอดกันไปทางสังคมโดยอาศัยสัญลักษณ์ วัฒนธรรมจึงเป็นชื่อสัมฤทธิ์ผลที่เด่นชัดทั้งหมดของกลุ่มมนุษย์ รวมทั้งสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เช่น ภาษา การทำเครื่องมือ อุตสาหกรรม ศิลปะ วิทยาศาสตร์ กฎหมาย การปกครอง ศีลธรรม และศาสนา กับรวมถึงอุปกรณ์ที่เป็นวัตถุหรือสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งแสดงรูปแบบแห่งสัมฤทธิผลทางวัฒนธรรม และทำให้ลักษณะวัฒนธรรมทางปัญญาสามารถยังผลเป็นประโยขน์ใช้สอยได้ เช่น อาคาร เครื่องมือ เครื่องจักรกล เครื่องมือสื่อสาร ศิลปวัตถุ ฯลฯ

                ความหมายของคำ วัฒนธรรม นี้ในทางวิชาการแตกต่างไปจากความหมายสามัญที่ใช้กันทั่วไป เพราะหมายถึงทุกสิ่งที่เรียนรู้มาจากการคมนาคมสื่อสารระหว่างกัน รวมทั้งภาษา ขนบธรรมเนียม ประเพณี และสถาบันต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ คำว่า วัฒนธรรม จึงเป็นมโนภาพที่สำคัญในวิชามานุษยวิทยา

 

Acculturation : 

                การปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรม การสังสรรค์ระหว่างวัฒนธรรม กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เนื่องจากกลุ่มบุคคลที่ต่างวัฒนธรรมกัน มีการติดต่อโดยตรงต่อเนื่องกัน ยังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแบบอย่างวัฒนธรรมดั้งเดิม ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือทั้งสองกลุ่ม อย่างไรก็ดี แต่ละกลุ่มก็คงดำรงวิถีชีวิตตามแบบอย่างวัฒนธรรมส่วนใหญ่ของตนอยู่ ไม่ได้ถูกทำให้สมานกลมกลืนกันเข้าไปในอีกกลุ่มหนึ่งทีเดียว

                การสังสรรค์วัฒนธรรมนี้มีกระบวนการ 2 ทางคือ ในทัศนะที่วัฒนธรรมจากกลุ่มหนึ่งถ่ายทอดกระจายไปสู่กลุ่มอื่น ๆ มีคำศัพท์ว่า "การแพร่กระจายวัฒนธรรม" (Culture diffu-sion) ส่วนในทัศนะหนึ่งที่เป็นฝ่ายรับเอา ก็มีคำศัพท์ว่า "การยืมวัฒนธรรม" (Culture borrowing)