ภาคที่สอง : มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม


ภาคที่สอง

 มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม

                 เป้าหมายหลักของการศึกษาวิชามานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม ก็คือ การเรียนรู้ลักษณะและสภาพสังคมและวัฒนธรรมของสังคมอื่นที่แปลกแตกต่างไปจากของเรา จริงอยู่ที่โฮโม เซเปียนส์ เซเปียนส์ได้วิวัฒนาการมาจากสกุลเดียวกัน แต่เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นหมู่เป็นเหล่าภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน ทำให้การสร้างความสัมพันธ์ต่อกันทางสังคมและมีระเบียบแบบแผนทางวัฒนธรรมแตกต่างกันออกไป

                ในอดีต จุดสนใจเริ่มแรกของนักมานุษยวิทยาชาวยุโรปอยู่ที่การศึกษาสังคมดั้งเดิมที่ตั้งอยู่นอกทวีปยุโรป ต่อมา เมื่อสังคมต่างเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งได้มีการพัฒนาวิธีการศึกษาในสาขานี้ให้มีกฏเกณฑ์และเป็นระบบ นักมานุษยวิทยาจึงขยายความสนใจออกไปอย่างกว้างขวาง โดยทำการศึกษาสังคมและวัฒนธรรมของสังคมทุกสังคมทั่วโลก       

                 สถาบันทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ เทคโนโลยีและระบบเศรษฐกิจ การเมือง ครอบครัว ศาสนาและความเชื่อ ศิลปะและภาษาเป็นหัวข้อสำคัญที่นักมานุษยวิทยาต่างค้นหารูปแบบในแต่ละสังคมซึ่งสถาบันเหล่านี้จะส่งผลให้รูปลักษณ์ของวิธีการดำเนินชีวิตของคนในแต่ละสังคมแตกต่างกัน อนึ่ง จุดเด่นของวิชามานุษยวิทยาอีกประการหนึ่ง ก็คือ วิธีการศึกษาที่ใช้การสังเกตแบบมีส่วนร่วมด้วยการออกไปอาศัยอยู่ร่วมกับสมาชิกของสังคมที่ต้องการศึกษาเป็นระยะเวลานานพอที่จะเข้าใจพฤติกรรมของคนได้อย่างละเอียด จึงเป็นผลให้วิชามานุษยวิทยากลายเป็นศาสตร์ทางสังคมวัฒนธรรมที่ลุ่มลึกและเอื้อประโยชน์ต่อการเรียนรู้เกี่ยวกับมนุษยชาติได้เป็นอย่างดียิ่ง