บทที่8  มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม  >> หน้า 1

AN113


บทที่ 8
มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม

                ในสหราชอาณาจักร นักมานุษยวิทยาจะเรียกสาขาวิชานี้ว่า มานุษยวิทยาสังคม (Social Anthropology)   ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาจะเรียกว่า  มานุษยวิทยาวัฒนธรรม (cultural Anthropology)   ศาสตราจารย์ลูซี่ แมร์  นักมานุษยวิทยาอาวุโสชาวอังกฤษได้อธิบายเหตุผลของการเรียกชื่อต่างกันว่า ความสนใจของนักมานุษยวิทยาสังคม ก็คือการเน้นศึกษาสังคม (society) โดยยึดหลักตามแนวคิดของปรมาจารย์ชาวฝรั่งเศส ชื่อ อีมิล เดอร์ไคม์ (Emile Durkheim) และชาวอังกฤษ ชื่อ เรดคลิฟ - บราวน์ (A.R. Radcliffe - Brown)   ส่วนความสนใจของนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ก็คือ การเน้นศึกษาวัฒนธรรม (culture)   โดยยึดถือหลักตามแนวคิดของเอ็ดเวอร์ด ไทเลอร์    (Edward B. Taylor) ปรมาจารย์สาขาวัฒนธรรมชาวอังกฤษและฟรานซ์ โบแอส (Franz Boas) ชาวเยอรมัน  ผู้ซึ่งอพยพไปทำงานและสอนตามมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา(1)

                แม้มุมมองของทั้งสองสำนักจะแตกต่างกัน แต่วัตถุดิบหรือสิ่งที่นักมานุษยวิทยาทั้งสองกลุ่มทำการศึกษา ก็คือ สังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากสังคมชาวยุโรป  หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ศึกษาสังคมวัฒนธรรมที่มิใช่ชาวตะวันตก (nonwestern culture) เพื่อค้นหาคำตอบว่า คนเหล่านั้นมีลักษณะการอยู่รวมกลุ่มเป็นสังคมอย่างไร และมีแบบแผนทางวัฒนธรรมเช่นไรในการดำเนินชีวิต  ต่อมาเมื่อกาลเวลาผ่านไป องค์ความรู้วิชามานุษยวิทยาได้รับการจัดให้เป็นระบบและสร้างระเบียบวิธีการศึกษาหาข้อมูลที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพ    จึงมีการใช้วิชามานุษยวิทยาทำการศึกษาสังคมที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อนมากขึ้น เช่น สังคมชนบท สังคมเมือง และแม้แต่สังคมในทวีปยุโรปเอง อาทิเช่น การศึกษาเรื่องชุมชนในประเทศอังกฤษโดยแฟรงกินเบอร์ก(2) และการศึกษาของบอทท์ในเรื่องชีวิตครอบครัวในกรุงลอนดอน(3)  เป็นต้น