บทที่ 8 มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม  >> หน้า 2


                ในการศึกษาสังคมและวัฒนธรรมนั้น  นักมานุษยวิทยาจะศึกษาทุกสิ่งทุกอย่างของสังคมวัฒนธรรมนั้น ๆ โดยมีหัวข้อหลักที่จะวิเคราะห์ ดังนี้

                (1)  การกำเนิดสังคมและวัฒนธรรม

                (2)  ลักษณะแบบแผนความประพฤติทางสังคมและวัฒนธรรม

                (3)  ระบบเศรษฐกิจและเทคโนโลยี

                (4)  ครอบครัวและเครือญาติ

                (5)  การจัดระเบียบทางสังคมและการเมือง

                (6)  ความเชื่อ มายาศาสตร์ และศาสนา

                (7)  ศิลปะและภาษา

                (8)  การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม

                จะเห็นได้ว่า นักมานุษยวิทยาต่างให้ความสนใจศึกษาสังคมปัจจุบัน (existing cultures) ทั้งที่ตั้งอยู่นอกทวีปยุโรปและในยุโรป ประเด็นนี้เองที่ทำให้วิชามานุษยวิทยาแตกต่างไปจากวิชาโบราณคดี(Archaeology)  ที่ศึกษาสังคมวัฒนธรรมของคนที่ดำรงชีวิตในอดีตกาล 

                การที่จะเรียนรู้ลักษณะของสังคมวัฒนธรรมของ "คนที่มีชีวิตอยู่" อย่างละเอียดได้นั้น นักมานุษยวิทยาจำเป็นต้องเข้าไปอาศัยอยู่ร่วมกับคนในชุมชนที่ตนต้องการศึกษาเป็นระยะเวลานานพอ เช่น ราว 1 - 2 ปี ซึ่งเราเรียกวิธีการศึกษาแบบนี้ว่า "การสังเกตแบบมีส่วนร่วม" (participant observation) เพื่อทำการเก็บบันทึกข้อมูลจริง วิธีการนี้จึงเป็นข้อเด่นที่ทำให้วิชามานุษยวิทยาเป็นสาขาที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรมและได้รับข้อมูลที่แจ้งชัด แม่นยำ และน่าเชื่อถือมากที่สุด รวมทั้งสามารถนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง