บทที่12   พฤติกรรมทางการเมืองและการควบคุมทางสังคม  >> หน้า 7


                ดังนั้นผู้อ่านจะสังเกตได้ว่า การแบ่งชั้นทางสังคมเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบการเมืองในทุกสังคม ความแตกต่างทางสถานภาพเป็นเครื่องกำหนดสิทธิและหน้าที่ของแต่ละบุคคลที่จะต้องปฏิบัติตาม หากเราจะกล่าวว่า "ไม่มีสังคมใดที่ปราศจากระบบทางการเมือง" แล้ว ก็ต้องพูดเสริมต่อไปอีกว่า "ไม่มีระบบการเมืองใดที่ปราศจากการมีความแตกต่างกันของคนในสังคม" 

3.  ศาสนากับอำนาจ (Religion and Power)

                ศาสนาในที่นี้ขอหมายรวมถึงลัทธิความเชื่อต่าง ๆ (cults) ที่มีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมของมนุษย์ เหตุผลที่ต้องขยายขอบเขตของความหมายของศาสนาออกไปอย่างกว้างขวางก็เพราะในบางสังคม ระบบความเชื่อยังมิได้เป็นแบบแผนดังเช่นคริสต์ศาสนา พุทธศาสนา หรือศาสนาอิสลาม แต่เนื้อหาสาระและวิธีการประพฤติปฏิบัติของคนต่อลัทธิความเชื่อนั้นคล้ายกับการปฏิบัติตามศาสนาทั่วไป นักมานุษยวิทยาจึงใช้คำว่า "ศาสนา" แทนระบบพฤติกรรมของคนที่มีต่อลัทธิความเชื่อและความเชื่อที่มีต่อสิ่งที่อยู่นอกเหนือธรรมชาติทั้งหมด

                ศาสนามีความเกี่ยวพันกับอำนาจมาก  ทั้งนี้เพราะความเชื่อของคนต่ออำนาจนอกเหนือธรรมชาติได้แสดงออกมาในรูปของการบวงสรวงต่อบรรพบุรุษดั้งเดิม (ancestor worship) ความเชื่อเกี่ยวกับกษัตริย์ในฐานะที่เป็นสมมุติเทพ ตลอดจน ความเชื่อว่าอำนาจของพ่อมดหมอผีมีเหนือพฤติกรรมของคน เหตุผลของการยอมรับความเชื่อดังกล่าวอาจจำแนกได้เป็น 2 ลักษณะดังนี้

                (1)                มนุษย์ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในยามคับขัน จึงจินตนาการรูปร่างของอำนาจนอกเหนือธรรมชาติขึ้นมา เพื่อยึดเป็นหลักในการเคารพบูชาและช่วยปกป้องยามมีภยันตรายมาโรมรัน

                (2)                ได้มีบางคนหรือกลุ่มคนบางกลุ่มทำหน้าที่เป็น "ตัวแทน" ของอำนาจนอกเหนือธรรมชาติและอ้างว่าเขาสามารถติดต่อกับพระเจ้าได้ ทำให้คนอื่น ๆ ให้ความเคารพนับถือตัวแทนนั้น ๆ