บทที่12  พฤติกรรมทางการเมืองและการควบคุมทางสังคม  >> หน้า 8


                ในสังคมดั้งเดิมและสังคมที่กำลังพัฒนา อิทธิพลของลัทธิความเชื่อ นิยายหรือนิทานที่กล่าวถึงการกำเนิดของชุมชนและเชื้อสายของผู้ปกครอง และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับอำนาจนอกเหนือธรรมชาติมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพฤติกรรมของสมาชิกของสังคมนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้ การยอมรับอำนาจโดยประเพณีนิยม (traditional authority) และโดยบารมีนิยม (charismatic authority) จึงมีลักษณะเด่นกว่าอำนาจที่มาจากหลักตรรก - นิตินัย (rational - legal authority) นอกจากนี้นักมานุษยวิทยายังให้ความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับการจินตนาการเป็นรูปร่าง (personification) เช่น ผี และสนใจในเรื่องบทบาทของตัวแทน เช่น พระ พ่อมด หมอผี กษัตริย์ นักบวช หัวหน้าเผ่าหรือชุมชน ตลอดจนครูอาจารย์ ซึ่งมีความสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ คำถามที่น่าสนใจก็คือตัวแทนดังกล่าวมีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อ ทัศนคติของคนในสังคมนั้นอย่างไร ในขณะเดียวกันนิยายปรัมปรา (myth) ที่เกี่ยวกับการกำเนิดชุมชน และการสืบเชื้อสายของคนในแต่ละสกุล ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับเทือกเขาเหล่ากอ (clan) ของคนและความเชื่อที่ว่าบรรพบุรุษของพวกเขาสิงสถิตย์อยู่ที่ก้อนหิน หรือสัตว์จำพวกหนึ่งหรือต้นไม้ชนิดหนึ่ง (totem) ก็ได้รับความสนใจเป็นพิเศษเช่นกัน อิทธิพลของความเชื่อดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของคนในสังคมมาก

                ไม่เฉพาะแต่ศาสนาระดับชาวบ้านเท่านั้น นักมานุษยวิทยายังได้ให้ความสนใจต่อศาสนาสำคัญ ๆ ของโลกด้วย ทั้งในด้านคำสอนและวิธีประพฤติปฏิบัติของคนทั้งสังคม เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม เป็นต้น บทบาทของนักบวชทั้งก่อนและหลังการปฏิรูปทางศาสนาครั้งสำคัญ ๆ มีอิทธิพลต่อความคิดและทัศนคติของคนในระดับต่าง ๆ กัน ความสนใจของนักมานุษยวิทยาจึงได้มุ่งถึงอำนาจของนักบวชดังกล่าว อนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาสำคัญ ๆ กับลัทธิความเชื่อของชาวบ้าน เช่น พุทธศาสนากับความเชื่อเกี่ยวกับแอนนิมิสซึม (animism) หรือความเชื่อว่าของทุกสิ่งมีวิญญาณ ก็มีความสำคัญต่อการศึกษาทางด้านการเมืองด้วยเช่นกัน