ภาคที่หนึ่ง: มานุษยวิทยากายภาพ 


ภาคที่หนึ่ง
มานุษยวิทยากายภาพ 

                     นักมานุษยวิทยากายภาพให้ความสนใจศึกษาเรื่องราวของคน ด้วยการใช้แนวการศึกษาแบบ "ชีววัฒนธรรม" เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับ "มนุษย์" ในแง่โครงสร้างทางชีวภาพ หัวข้อหลักของสาขานี้ก็คือ ศึกษาการวิวัฒนาการของมนุษย์ และความแตกต่างในหมู่มนุษยชาติในยุคปัจจุบัน

                    การที่จะเข้าใจเรื่องราวของมนุษย์ในแง่นี้ จำเป็นจะต้องเรียนรู้หลักเกี่ยวกับการวิวัฒนาการอย่างละเอียด ในบทที่ 3 จะกล่าวถึงประวัติแนวความคิดและปัจจัยที่ทำให้เกิดการวิวัฒนาการทางด้านสรีรวิทยาของสิ่งมีชีวิต ต่อมา เมื่อความรู้ทางด้านชีววิทยาและพันธุศาสตร์ได้เจริญก้าวหน้าในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายถึงกลไกของการวิวัฒนาการได้ละเอียดและแม่นยำมากยิ่งขึ้น ดังที่ได้กล่าวในรายละเอียดในบทที่ 4 บทที่ 5 และ 6 จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการวิวัฒนาการของมนุษย์ โดยจะได้สืบสาวสายใยแห่งการพัฒนาตั้งแต่สัตว์ในสกุลไพรเมต มาเป็นวานร เป็นมนุษย์โบราณ จนมาเป็นมนุษย์สมัยใหม่หรือโฮโม เซเปียนส์ดังเช่นทุกวันนี้

                    บทสุดท้ายของภาคที่หนึ่งได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างมนุษย์ในยุคปัจจุบันทั้งนี้ เพราะความแตกต่างได้ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด อาทิเช่น สีผิว และขนาดรูปร่าง นอกจากนี้ความแตกต่างภายในยีนก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้น นักมานุษยวิทยาจึงให้ความสนใจเพื่อดูว่าลักษณะและสภาพของความแตกต่างเป็นเช่นไร และมีสาเหตุมาจากอะไร

                    ในการศึกษาตามแนว "ชีววัฒนธรรม" นี้ นักมานุษยวิทยาจะศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่าง การวิวัฒนาการทางชีวภาพของมนุษย์ -สิ่งแวดล้อม-วัฒนธรรมที่สร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องราวของมนุษย์อย่างสมบูรณ์