บทที่2  ขอบเขตของวิชามานุษยวิทยากายภาพ >> หน้า 1

AN113


บทที่ 2
ขอบเขตของวิชามานุษยวิทยากายภาพ

                 การศึกษาเกี่ยวกับ "ตัวมนุษย์" และ "ความเป็นมา" ในแง่โครงสร้างทางชีวภาพนั้นเป็นหน้าที่หลักของนักมานุษยวิทยากายภาพ นักมานุษยวิทยาสาขานี้ใช้แนวการศึกษาแบบ ชีว วัฒนธรรม (biocultural approach) มาใช้เป็นกรอบเพื่อค้นหาความรู้ความเข้าใจในเรื่องสรีรวิทยาของมนุษย์ โดยแนวการศึกษาแบบนี้เป็นการนำเอาความรู้สาขาชีววิทยา สัตวศาสตร์ พันธุศาสตร์ สิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา และวัฒนธรรมมาผสมผสานกันเพื่อสร้างกรอบการวิเคราะห์ใหม่ใช้ศึกษา ตัวของมนุษย์หรือโฮโม เซเปียนส์ (Homo sapiens) 

                จากแนวการศึกษาแบบชีววัฒนธรรมนี้ ได้ส่งผลให้วิชามานุษยวิทยากายภาพมีลักษณะเด่นแตกต่างไปจากวิชาในสาขาสังคมศาสตร์ (Social sciences) อื่น ๆ ทั้งนี้เป็นเพราะได้นำวิทยาการของการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural sciences) หลายสาขา อาทิเช่น ชีววิทยา ธรณีวิทยา กายวิภาคศาสตร์ สัตววิทยา พันธุศาสตร์ และเคมีมาใช้เป็นเครื่องมือ รวมทั้งได้นำทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการศึกษาวิเคราะห์ ในขณะเดียวกัน จากการที่มวลมนุษย์ต้องตอบสนองต่อความต้องการทางร่างกายและสิ่งแวดล้อมรอบกาย ต้องอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มและแสดงพฤติกรรมไปตามกฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรมที่ได้สร้างสมกันขึ้นมา ทำให้นักมานุษยวิทยากายภาพมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางชีวภาพกับการโต้ตอบทางวัฒนธรรมของมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ในแต่ละยุคแต่ละสมัยภายใต้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่พวกเขาอาศัยอยู่ ดังนั้น แนวการศึกษาแบบชีววัฒนธรรมจึงยังผลให้วิชามานุษย-วิทยากายภาพมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มีแนวโน้มเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมากกว่าวิชาในสาขาสังคมศาสตร์อื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ ผู้เรียนในสาขาวิชาแพทย์ศาสตร์จึงต้องเรียนวิชามานุษยวิทยากายภาพเป็นวิชาพื้นฐาน