บทที่2  ขอบเขตของวิชามานุษยวิทยากายภาพ >> หน้า 2


ขอบเขตวิชามานุษยวิทยากายภาพ

                นักมานุษยวิทยากายภาพสนใจศึกษา 2 หัวข้อใหญ่ คือ การวิวัฒนาการของมนุษย์ (human evolution) และความแตกต่างในหมู่มนุษยชาติในยุคปัจจุบัน (human variations 

in modern population)(1)

                ในหัวข้อที่หนึ่งนั้น มีเนื้อหาสาระมุ่งเน้นไปที่การศึกษาตัวมนุษย์ในฐานะที่เป็นสิ่งที่มีชีวิตในสายตระกูลโฮโม โดยจะพยายามค้นหาต้นตอและสายการวิวัฒนาการจนกลายเป็นมนุษย์ดังเช่นทุกวันนี้ การศึกษาเรื่องราวของการวิวัฒนาการนี้ต้องอาศัยการวิเคราะห์ซากกระดูกและอวัยวะ (อาจเรียกว่า ซากดึกดำบรรพ์ หรือซากเน่าเปื่อย หรือเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า ฟอสซิล - fossil) ของสิ่งมีชีวิตที่เคยมีชีวิตในอดีต แล้วนำมาเปรียบเทียบกับโครงสร้างกายวิภาคของสัตว์และมนุษย์ในยุคปัจจุบัน เพื่อสืบสาวเรื่องราวเกี่ยวกับสายการวิวัฒนาการจนกลายเป็นโฮโม เซเปียนส์ ส่วนหัวข้อที่สองนั้น เป็นการศึกษาถึงความแตกต่างของโฮโม เซเปียนส์ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เช่น สีผิว ขนาดและโครงสร้างทางร่างกาย กลุ่มเลือด การปรับตัวต่อความร้อน แสงอาทิตย์ และความสูง ทั้งนี้เพราะเป็นความแตกต่างที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดและสามารถ ถ่ายทอดไปยังลูกหลานโดยผ่านทางพันธุกรรมด้วย

                กล่าวโดยย่อ นักมานุษยวิทยากายภาพให้ความสนใจศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ทั้งที่เป็นประวัติของการวิวัฒนาการหรือมนุษย์ในอดีตและตัวมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ดังมีรายละเอียดของประเด็นที่ศึกษาดังต่อไปนี้