บทที่16  มานุษยวิทยาปฏิบัติการ  >> หน้า 15

 

                ข้อมูลที่ได้รับ จะทำให้ผู้เรียนทราบถึงก้นบึ้งของหัวใจของชนชาติอื่นได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างประชากร รายได้รายจ่าย ภูมิภาค รสนิยม ความคิดความเชื่อ และโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเจาะตลาด การวางแผนรุกเพื่อขยายส่วนแบ่งของตลาด และการต้านรับการรุกของสินค้าที่ส่งไปจากประเทศคู่แข่ง

                วิธีการดังนี้ ประเทศที่ได้รับความสำเร็จในด้านการค้าได้ดำเนินการมานานแล้ว เช่น Tokyo University of Foreign Studies ในญี่ปุ่น และ Hankuk University of Foreign Studies ในเกาหลีใต้

                กล่าวโดยสรุป การพัฒนาประเทศเพื่อให้ก้าวไปสู่ความทันสมัยและกลายเป็นประเทศ อุตสาหกรรมของประเทศไม่ว่าจะเป็นรัฐในระบบเสรีประชาธิปไตยหรือสังคมนิยมก็ตาม มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เรื่องราวของประเทศอื่นอย่างละเอียด ยิ่งในยุคปัจจุบัน โลกนี้แคบลงเพราะการติดต่อสื่อสารและการคมนาคมเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว เราจึงควรจะใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติมากที่สุด อย่างน้อยก็จะช่วยเกื้อหนุนให้การส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นจนทะลุเป้าหมาย(16)

 

4.มิติใหม่ในสาขามานุษยวิทยาประยุกต์

                ปี ค.ศ.1973 สมาคมวิชาชีพมานุษยวิทยา (The Society of Professional Anthropology) แห่งสหรัฐฯ ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยมีฐานปฏิบัติการอยู่ที่เมืองทัคซัน มลรัฐอริโซน่า (มหา วิทยาลัยอริโซน่า) เป้าหมายหลักของสมาคมนี้ก็คือเป็นแหล่งรวบรวมและร่วมกันคิดค้นหาหน ทางที่จะปรับปรุงและขยายขอบเขตของวิชาชีพสาขามานุษยวิทยาให้กว้างขวางออกไป ด้วยเหตุนี้ จึงได้จัดตั้งสมาคมมานุษยวิทยาประยุกต์ (The Society of Applied Anthropology) เพื่อส่งเสริมการวิจัยพัฒนามานุษยวิทยาปฏิบัติการและฝึกฝนเพิ่มพูนความรู้ทักษะเพื่อสร้างอาชีพใหม่ให้กับผู้เรียนสาขามานุษยวิทยา

                ต่อมาในปี ค.ศ.1978 ทางสมาคมมานุษยวิทยาประยุกต์ได้ออกวารสารทางวิชาการชื่อ Practicing Anthropology เพื่อใช้เป็นสื่อกลางกระจายความคิดและระเบียบวิธีการศึกษาแก่สมาชิกและผู้สนใจทั่วโลก (สหรัฐฯ ยุโรป ออสเตรเลีย และประเทศต่าง ๆ) อนึ่ง ในทศวรรษที่ 70 แห่งคริสต์ศักราชนี้เองที่มีการฝึกฝนในแนวทางใหม่ในสาขามานุษยวิทยาประยุกต์ขึ้น และได้บรรลุผลดังนี้