บทที่16  มานุษยวิทยาปฏิบัติการ  >> หน้า 6

 

การประยุกต์ใช้สาขามานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรม

                จอห์น เบตตี้ นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาอ๊อกฟอร์ดกล่าวว่า "วิชามานุษยวิทยาสังคมเป็นวิชาที่ให้ประโยชน์แก่ผู้ศึกษาในเชิงภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้ที่จะต้องทำงานเกี่ยวข้องกับคนซึ่งอาศัยอยู่ในสังคมขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ห่างไกล ชุมชนชนบท และกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมือง ตัวอย่างของบุคคลที่จะใช้ประโยชน์โดยตรง ได้แก่ ข้าราชการ นักสอนศาสนา นักพัฒนา นักธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นวิชาที่ให้ประโยชน์แก่คนทั่วไปที่สนใจจะเรียนรู้เรื่องราวของชนต่างวัฒนธรรม"(8) นั่นหมายความว่า เราสามารถประยุกต์ใช้ความรู้สาขามานุษยวิทยาสังคมวัฒน

ธรรมในงานอาชีพได้กว้างขวางเกือบทุกสาขา และยิ่งในประเทศนอกทวีปยุโรปที่มีการใช้วิชามานุษยวิทยาศึกษาสังคมวัฒนธรรมของตนเองอย่างแพร่หลายแล้ว ก็ยิ่งจะสร้างประโยชน์ได้มากทั้งนี้ เป็นสัจธรรมที่ว่า งานทุกสาขาอาชีพจะต้องเกี่ยวข้องกับคนและวัฒนธรรมทั้งสิ้น ดังนั้นความรู้ที่เป็นผลผลิตของนักมานุษยวิทยาจึงมีประโยชน์และสามารถนำไปใช้ได้อย่างแท้จริง ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างงานที่นักมานุษยวิทยาประยุกต์ในสาขาสังคมวัฒนธรรมบางตัวอย่างดังนี้

 

1.  การพัฒนา

                ในประเทศกำลังพัฒนาดังเช่นประเทศไทยเรา การพัฒนาถือได้ว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาชนบท พัฒนาเมือง พัฒนาทางการเมือง หรือการพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุขและอนามัย ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นภายใต้สภาพเงื่อนไขและสถานการณ์ของสังคมวัฒนธรรมไทย

                ในฐานะที่นักมานุษยวิทยาเป็นผู้ที่มีความชำนัญพิเศษในเรื่องมนุษย์และสังคมวัฒนธรรม ดังนั้น การวิจัยของพวกเขาจึงเป็นการเสนอ "ภาพของสังคม" ทุกด้านได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการวางนโยบายและโครงการการพัฒนา จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันหน่วยงานการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ (เช่น UNDP) องค์การความร่วมมือในการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ของแคนาดา (CIDA) และของเนเทอร์แลนด์ ฯลฯ ต่างบรรจุตำแหน่งนักมานุษยวิทยาเพื่อทำหน้าที่ร่วมวางนโยบาย ดำเนินงาน ควบคุม และประเมินผลการพัฒนาของโครงการช่วยเหลือในทุกโครงการ โดยมีชื่อเรียกตำแหน่งนี้ต่างกัน เช่น นักสังคมศาสตร์ นักมานุษยวิทยา ที่ปรึกษาทางด้านสังคม หรือที่ปรึกษาทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ เป็นต้น