บทที่16  มานุษยวิทยาปฏิบัติการ  >> หน้า 1


บทที่ 16
มานุษยวิทยาปฏิบัติการ 

  

                มานุษยวิทยาเป็น "ศาสตร์บริสุทธิ์" ในสาขาสังคมศาสตร์ที่มุ่งเน้นให้ผู้ศึกษาแสวงหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวมนุษย์และสังคมวัฒนธรรมที่มนุษย์อาศัยอยู่ตามภูมิภาคและแหล่งต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก ข้อมูลที่ได้รับจากการศึกษาได้นำมาวิเคราะห์เพื่อหารายละเอียด รูปแบบ ลักษณะของแบบแผนและตั้งเป็นทฤษฎีเพื่อใช้ในการอธิบายเรื่องราวของมนุษย์และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น การแสวงหาคำตอบในเรื่องนี้จำเป็นต้องใช้ระเบียบวิธีการหาความรู้ด้วยการทดลอง ค้นคว้า และวิจัยเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัด อันจะส่งผลให้ "องค์ของความรู้" สาขามานุษยวิทยากลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้แก่อนุชนรุ่นหลังได้ใช้ศึกษาและสานต่อให้เกิดความรู้ในระดับสูงและในมุมกว้างต่อไป ในประเด็นนี้เอง เราจึงเรียกลักษณะของความรู้นี้ว่าศาสตร์บริสุทธิ์

                ความรู้ที่ได้รับจากศาสตร์บริสุทธิ์เป็นเรื่องของการแก้ไขข้อสงสัยความลึกลับเกี่ยวกับมนุษย์และเป็นการแสวงหาสิ่งที่เรียกว่า "ความเป็นเลิศทางปัญญา" เท่านั้นหรือ คำถามในข้อนี้เกิดมีขึ้นมานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่นักวิชาการริเริ่มสร้างสาขาวิชามานุษยวิทยาขึ้น และในยุคที่วิชามานุษยวิทยาเจริญเฟื่องฟูสูงสุด ต่อมาเมื่อมีการนำความรู้นี้มาใช้ประโยชน์ด้วยการสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ปกครองอาณานิคมชาวตะวันตกในเรื่องคนและสังคมวัฒนธรรมของชนที่อยู่ภายใต้การปกครอง เพื่อป้องกันมิให้เหล่าข้าหลวงและเจ้าหน้าที่จากยุโรปปฏิบัติตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อชนพื้นเมืองด้วยความไม่รู้และละเลยไม่กระทำตามขนบธรรมเนียมประเพณีพื้นเมือง อีกทั้งยังสามารถนำวัฒนธรรมพื้นบ้านมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงาน การบริหาร และการค้าของประเทศแม่ได้ด้วย จึงทำให้เป้าหมายของสาขาวิชามานุษยวิทยาเพิ่มเติมขึ้นจากเดิม จนกระทั่ง มีการเรียกเป็นวิชาใหม่ว่า มานุษยวิทยาปฏิบัติการ (Practicing Anthropology) หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า มานุษยวิทยาประยุกต์ (Applied Anthropology)(1)