บทที่ 13   ความเชื่อ ศาสนาและการควบคุมทางสังคม >> หน้า 21

 

                เราอาจจำแนกแนวการศึกษาศาสนาออกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ ๆ คือ

                (1)                ศาสนาเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลในสังคมที่จะประพฤติและปฏิบัติในสิ่งที่ตนเชื่อถือ

                (2)                ศาสนาเป็นเรื่องของพฤติกรรมของคนในสังคม โดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือของการรวมกลุ่มของคน และบางคนอาจใช้ศาสนาเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมของตนเอง

                (3)                ศาสนาเป็นเรื่องของพิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ

                ประการแรกนั้นนักมานุษยวิทยาต่างยอมรับความคิดและความเชื่อของคนที่มีต่อศาสนาว่าเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เช่น ความเชื่อต่อพระพุทธรูป พระที่ห้อยคอ ไม้กางเขน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นที่พึ่งทางใจของแต่ละคน ดังนั้น การอธิฐานและการบนบานต่อสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอความคุ้มครองและปกป้องรักษาตัวเขาและครอบครัวจึงเป็นการกระทำตามศรัทธาของแต่ละบุคคล

                ประการที่สอง มีผู้ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจและทรัพย์สมบัติ ดังเราจะพบเสมอว่าศาสดาบางคนได้บอกให้คนอื่นว่า ตนเองได้ฝัน หรือพบเทวดาที่ศักดิ์สิทธิ์และเทวดาดังกล่าวได้ให้ตนนำเอาความคิดนี้มาเผยแพร่ ส่วนฤาษีบางตนที่ตั้งตนว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์โดยอ้างว่า ตนเองได้บรรลุถึงขั้นสุดยอดที่จะทำให้คนตายกลายเป็นคนเป็น และสามารถกำหนดโชคชะตาของคนได้ ในบางกรณี หัวหน้าเผ่าหรือกษัตริย์ของสังคมบางสังคมต่างทำพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อให้คนเชื่อว่าตนเป็นคนที่พระเจ้าได้กำหนดให้มาปกครองกลุ่มคนนั้น ๆ หากใครไม่เชื่อและขัดขืนอำนาจ พระเจ้าจะสั่งให้ลงโทษถึงตายได้

                ประการสุดท้าย ศาสนาเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางพิธีกรรมและความเชื่อเพื่อให้คนมาร่วมกระทำพิธี นอกจากนี้ศาสนายังได้กำหนดวิถีความประพฤติ ความคิด ความเชื่อ ตลอดจนค่านิยมให้คนในกลุ่มปฏิบัติตาม ดังเช่นคนที่นับถือศาสนาพุทธเชื่อว่าทุกคนเกิดมามีกรรม กรรมนั้นเป็นผลมาจากการสร้างสมจากชาติปางก่อน ดังนั้นในชาตินี้ คนจะร่ำรวยหรือจน มีอำนาจวาสนาหรือเป็นข้าทาส เป็นเรื่องของกรรมทั้งสิ้น

                อนึ่ง ความเชื่อในสิ่งนอกเหนือธรรมชาติก็เป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจ เพื่อตรวจสอบดูว่ารูปแบบความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างไร และความเชื่อดังกล่าวมีผลต่อจิตใจของสมาชิกในสังคมและการรวมกลุ่มทางสังคมอย่างไร(7)