บทที่13   ความเชื่อ ศาสนาและการควบคุมทางสังคม  >> หน้า 20

 

                ศาสนายังให้คำตอบแก่คนในสิ่งที่เขาเข้าใจได้ยาก เช่น อะไรทำให้เกิดโชคร้าย ความเจ็บป่วย และการตาย เช่น เมื่อชาวออสเตรเลียพื้นเมืองถูกถามว่า "คนเรามีชีวิตอยู่ได้อย่างไร" เขาก็จะใช้นิยายที่ศักดิ์สิทธิ์ตอบว่า ภูติผีที่ชื่อ Numbakulla ได้สร้างและแยกมนุษย์ออกจากสัตว์และพืช และเมื่อเด็กชาวเกาะซามัวในมหาสมุทรปาซิฟิกถามว่า "เกาะต่าง ๆ นี้มาจากไหน" ผู้เป็นมารดาก็จะตอบโดยใช้นิยายพื้นบ้านเล่าว่าเทพเจ้าชื่อTagaloa ได้สร้างและทำเกาะแก่งต่าง ๆ ขึ้นมา

                ศาสนายังได้กำหนดแบบแผนของพฤติกรรมในแต่ละช่วงของชีวิต (rites de passage) เช่น พิธีการเกิด พิธีบวช พิธีแต่งงาน และพิธีเกี่ยวกับการตาย รวมทั้งได้ให้พลังใจแก่นักรบที่จะไปสู่สนามรบ นอกจากนี้ยังได้กำหนดข้อห้ามหลายอย่าง เช่น ข้อห้ามผู้หญิงเข้าไปในพระอุโบสถ์ ห้ามรับประทานอาหารบางชนิดที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อทางศาสนา เป็นต้น

 

ศาสนากับวิธีการศึกษา

                ศาสนาเป็นหัวข้อที่มีขอบเขตการศึกษาที่กว้างขวางมาก จึงยากที่จะเข้าใจพฤติกรรมทางศาสนาได้ทั้งหมด ทั้งนี้เพราะศาสนาเป็นระบบความเชื่อของคน และระบบความเชื่อดังกล่าวย่อมแตกต่างกันไปตามแต่ละสังคม รวมทั้งรูปแบบประเพณีของแต่ละลัทธิก็แตกต่างกันด้วย ดังนั้น จึงมีผู้ศึกษาศาสนาโดยมองถึงรูปแบบที่คนนับถือ เช่น พิธีกรรมและประเพณีเกี่ยวกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายของคน ประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก เช่น การขอฝน และวิธีการบำเพ็ญทุกขกริยา เช่น การนั่งบนแผ่นกระดานที่ตอกตะปู ใช้เหล็กแทงทะลุจมูกหรือปาก ฯลฯ ในขณะที่บางพวกศึกษาศาสนาในแง่ที่ว่า ศาสนาเป็นเครื่องมือที่จะใช้ในการสร้างแรงบันดาลใจให้คนก้าวไปสู่ความสำเร็จในกิจกรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจของคน เช่น การบำเพ็ญเป็นผู้ทรงศีล ทำให้คนอื่นเลื่อมใสและนำเอาข้าวของมาถวาย อนึ่ง ในบางสังคมพ่อมดหรือหมอผีมีอำนาจในให้รางวัลหรือบางครั้งตัดสินลงโทษคนที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือสามารถขับคนให้ออกจากสังคมได้ ในสมัยกลางที่สันตปาปาที่กรุงโรมมีอำนาจ ท่านทรงมีสิทธิพิเศษที่จะให้หรือไม่ให้สิทธิในการปกครองบ้านเมืองแก่กษัตริย์ต่าง ๆ ในยุโรปได้