บทที่13   ความเชื่อ ศาสนาและการควบคุมทางสังคม  >> หน้า 17

 

                                อำนาจนี้อาจเห็นได้ง่ายจากคนบางประเภท เช่น กษัตริย์ และหัวหน้าเผ่า คนธรรมดาสามัญจะเข้าใกล้บุคคลเหล่านี้ไม่ได้เพราะจะถูกทำอันตรายจากอำนาจนี้

                (3)  ลัทธิความเชื่อตัวแทนบรรพบุรุษ ลัทธินี้เรียกชื่อในภาษาอังกฤษว่า Totemism เป็นความเชื่อว่า สายตระกูลหนึ่งจะมีความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งไม่มีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ตระกูลช้องนางจะมีไม้ยางเป็นโตเต็มเพราะเชื่อกันว่าวิญญาณของเหล่าบรรพบุรุษตระกูลช้องนางจะสิงสถิตย์อยู่ในต้นไม้นั้น คนในสายตระกูลดังกล่าวจะต้องให้ความเคารพ และกราบไหว้บูชา แต่จะทำลายต้นยางไม่ได้ หากกระทำเช่นนั้นจะทำให้วิญญาณของบรรพบุรุษโกรธอันจะส่งผลให้คนในสายตระกูลนั้นเสียชีวิตหรือได้รับภัยพิบัติต่าง ๆ นานา

                   ความเชื่อเกี่ยวกับโตเต็มมีอยู่ทั่วไป บางกลุ่มเชื่อว่า ก้อนหินของภูผาแห่งนี้เป็นโตเต็มของพวกเขา ในขณะที่บางกลุ่มเชื่อว่า ปลาชนิดหนึ่ง หรือสิงห์โต หรือเสือเป็นโตเต็ม มีการกล่าวกันว่า ความเชื่อในเรื่องนี้ทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มคนในสังคม และทำให้คนแต่ละกลุ่มมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างใกล้ชิด อาจกล่าวได้ว่า ความเชื่อเรื่องโตเต็มอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้นามสกุลก็ได้4

                กล่าวโดยสรุป ลัทธิความเชื่อพื้นบ้านข้างต้นเป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนแต่ละสังคมที่เกิดขึ้นนับแต่ครั้งโบราณกาล และเป็นความเชื่อที่ทำหน้าที่เป็นกฎและแนวทางการดำเนินชีวิต อีกทั้งเป็นเสมือนกฎควบคุมสังคม นักมานุษยวิทยาบางคนเรียกลัทธิความเชื่อแบบนี้ว่า ศาสนาดั้งเดิม (primitive religion) และทำการศึกษา รวมทั้งสร้างทฤษฎีเพื่อใช้ในการอธิบายมากมาย5