บทที่13   ความเชื่อ ศาสนาและการควบคุมทางสังคม >> หน้า 18

 

ศาสนาคืออะไร

                อาจกล่าวได้ว่า คนทุกคนในยุคปัจจุบันเข้าใจความหมายของคำว่าศาสนา แต่ก็จะให้ความหมายของศาสนาแตกต่างกันไปตามความเข้าใจของตนเอง ในที่นี้ผู้เขียนขอเสนอความหมายของศาสนาว่าเป็น "ระบบของความเชื่อและการปฏิบัติของกลุ่มคนต่อปรากฏการณ์ที่มีอำนาจนอกเหนือธรรมชาติและศักดิ์สิทธิ์" จากคำจำกัดความของศาสนานี้ เราอาจจำแนกองค์ประกอบได้ ดังต่อไปนี้

                (1)                ระบบความเชื่อและการปฏิบัติ

                (2)                กลุ่มคน

                (3)                ปรากฏการณ์ที่มีอำนาจนอกเหนือธรรมชาติและศักดิ์สิทธิ์

                ขอเน้นถึงการที่ศาสนามีอิทธิพลต่อกลุ่มคนเพราะศาสนามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับคนหลาย ๆ คนที่ให้การยอมรับและเชื่อในระบบปฏิบัตินั้น หากคน ๆ เดียวนับถือและปฏิบัติตามลัทธิหนึ่งโดยคนอื่น ๆ ไม่เห็นด้วย เราไม่อาจเรียกลัทธิที่คนนั้นนับถือว่าเป็น "ศาสนา" ฉะนั้นศาสนามีบทบาทสำคัญต่อกลุ่มคนในสังคม ด้วยเหตุนี้ นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสชื่อ อีมิล เดอร์ไคล์ม (Emile Durkheim) จึงกล่าวว่าศาสนาเป็นความเชื่อของกลุ่มชนซึ่งคิดสร้างสัญลักษณ์เพื่อร่วมกันบูชาและแสดงว่าเป็นพวกเดียวกัน โดยอาศัยสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งหรือวัดเป็นที่ที่ใช้ร่วมกันในการปฏิบัติพิธีกรรม

                ข้อความที่เพิ่งกล่าวไปนี้ เป็นการวิเคราะห์ศาสนาไปในเชิงสังคม โดยถือว่าศาสนาเป็น "เครื่องมือ" ในการเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคม ดังเช่นในสังคมไทย คนมักจะถือว่าตนเองเป็นสมาชิกของวัดนั้นหรือวัดนี้  อนึ่ง คนที่นับถือศาสนาพุทธมักจะบอกว่าเขาเป็นสมาชิกของพุทธศาสนิกชนและจะเป็นสมาชิกต่างกลุ่มกับคนที่นับถือศาสนาอิสลามหรือศาสนาคริสต์จะเห็นได้ว่าศาสนาเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนแบ่งแยกออกเป็นกลุ่ม ๆ โดยจะรวมกลุ่มกับคนที่นับถือศาสนาเดียวกันอย่างเหนียวแน่น(6)