บทที่13   ความเชื่อ ศาสนาและการควบคุมทางสังคม >> หน้า 12

 

คนทรงเกาหลี : ตัวอย่างกรณี

                จากการสำรวจสำมะโนประชากรเมื่อปี พ.ศ. 2528 คนเกาหลีกว่า 41.4 เปอร์เซนต์เลือกนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ในจำนวนนี้ เป็นพุทธศาสนิกชน 8 ล้านคน นับถือศาสนาคริสต์ทั้งโปรแตสแตนท์และคาธอลิก 8.3 ล้านคน ขงจื้อ 4 แสน 8 หมื่นคน จะเห็นได้ว่าคนเกาหลีใต้กว่าร้อยละ 60 ไม่ได้ชี้ชัดลงไปว่าตนนับถือศาสนาอะไร ลักษณะดั่งนี้ คงจะเป็นเช่นเดียวกับคนที่อาศัยอยู่ในเมืองทั่วโลกที่ให้ความสนใจต่อลัทธิความเชื่อน้อยลง แต่หันมาประพฤติปฏิบัติตนตามกฎหมายบ้านเมืองที่เขียนขึ้นเพื่อเป็นกฎของสังคมแทนลัทธิธรรมเนียม

                อย่างไรก็ตาม ความเชื่อในศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีมิได้จืดจางหายไปจากสังคม ทั้งนี้เพราะสิ่งดังกล่าวเป็นแนวทางที่ทำให้คนกับจักรวาลมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างแน่นแฟ้น และเป็นสิ่งเหนี่ยวรั้งให้คนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกันมีความผูกพัน ในที่สุด ขนบธรรมเนียมประเพณีก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมของชาติที่แตกต่างไปจากชนชาติอื่น ดังนั้น ผู้นำประเทศและคนในชาติมักตระหนักถึงความสำคัญของศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติตน และใช้เป็นเครื่องต่อต้านวัฒนธรรมสากล เช่น รถยนต์ เครื่องแต่งกาย เครื่องจักร วิทยุโทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์ซึ่งคนทุกชาติมีใช้เหมือน ๆ กัน ด้วยเหตุนี้ การมองหาเอกลักษณ์ประจำชาติจึงเป็นแฟชั่นที่คนในสังคมอุตสาหกรรมใหม่ต่างรณรงค์และเผยแพร่ให้โลกรู้

                ความเชื่อในเรื่อง "คนทรง" หรือที่ชาวเกาหลีเรียกว่า "มูดัง" ถือได้ว่าเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาดั้งเดิมของคนเมืองโสมมาแต่ครั้งอดีตกาล ปัจจุบัน ความเชื่อนี้ก็ยังมีปรากฏอยู่ทั่วไปและกลายเป็นพิธีกรรมประจำชาติที่มีการสงวนรักษา รวมทั้งมีการแสดงในโรงละครแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การศึกษาเรื่องคนทรงอาจจะทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจถึงความเชื่อและขนบธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เรื่องภูติผี สายตระกูล ประเพณีเกี่ยวกับบ้านและครอบครัว ฯลฯ ของคนเกาหลีได้ดียิ่งขึ้น เพราะประเพณีเกี่ยวกับคนทรงเป็นรากฐานของกิจกรรมด้านอื่น ๆ ในที่นี้จะขอนำเอาเรื่องราวของลัทธิคนทรงมาเล่าสู่ผู้อ่านดังต่อไปนี้