บทที่12  พฤติกรรมทางการเมืองและการควบคุมทางสังคม  >> หน้า 10

 

                (1)                การกระทำผิดสถานเบา กล่าวคือ การทำผิดที่ไม่ร้ายแรงจนถึงขั้นแตกหักและคนอื่นในสังคมไม่เดือดร้อนจนกระทั่งต้องต่อต้านการกระทำนั้น ๆ เช่น การไม่เคารพผู้อาวุโส การไม่อยู่ในโอวาทของพ่อแม่ การลงโทษพฤติกรรมเหล่านี้อาจจะใช้การว่ากล่าวตักเตือน ดุด่า หรือเยาะเย้ยให้อับอายขายหน้า วิธีการนี้เรียกกันว่า วิถีประชา

                (2)                การกระทำผิดที่ร้ายแรง เช่น ดูถูกผู้ปกครอง การทำร้ายร่างกาย การไม่ประพฤติตามกฎของบ้านเมือง กระทำผิดต่อขนบธรรมเนียมประเพณี สังคมจะลงโทษอย่างรุนแรง เป็นต้นว่า ขับออกจากสังคมไปที่อื่น ไม่ยอมคบค้าสมาคมด้วย วิธีการนี้เรียกว่าจารีต

                (3)                กฎข้อบังคับห้ามกระทำผิดอย่างเป็นทางการ โดยเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรบ่งไว้อย่างชัดเจน เรียกกันว่า กฎหมาย เขียนไว้เพื่อให้คนปฏิบัติตาม และกำหนดบทลงโทษไว้อย่างชัดเจน

                เมื่อกาลเวลาผ่านไป วิธีการแบบที่หนึ่งและแบบที่สองจะได้พัฒนาขึ้นมาเป็นกฎหมายในภายหลัง

 

การตรวจสอบการใช้อำนาจและดุลแห่งอำนาจ

                ทุกสังคมจะต้องมีหัวหน้าหรือตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจในการปกครองคนอื่น ๆ บางครั้งผู้ปกครองเมื่อได้รับอำนาจในการปกครองแล้วมักจะใช้อำนาจนั้นแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองและไม่นำพาต่อสิทธิที่ควรจะได้รับของผู้อยู่ใต้อำนาจ ด้วยเหตุนี้จึงมีการตรวจสอบการใช้อำนาจและมีดุลถ่วงแห่งอำนาจจากคนอีกกลุ่มหนึ่ง

                ในกรณีของสังคมชาวเกาะซามัวในทะเลใต้แห่งมหาสมุทรปาซิฟิก กิจกรรมทางด้านบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ มิได้แยกเป็นองค์กรอิสระแต่ละประเภท คงมีเฉพาะสภาหมู่บ้านเท่านั้นที่ทำหน้าที่ทั้งหมด สมาชิกของสภานี้ประกอบไปด้วยหัวหน้าของครอบครัวขยายที่เรียกว่า "มาไต" (matai) หัวหน้าดังกล่าวจะมีตำแหน่งลดหลั่นกันตามสถานภาพเดิมซึ่งถูกกำหนดโดยประเพณี ส่วนผู้นำสูงสุดของหมู่บ้าน เรียกว่าหัวหน้าสูงสุด จะมีอำนาจเหนือสภาหมู่บ้านและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในสภานั้นด้วย ระบบตรวจสอบอำนาจนั้นมีอยู่ว่า แต่ละหัวหน้าที่ได้รับเลือกมาจากครอบครัวขยายนั้นอาจจะถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ในเมื่อปรากฏว่าเขาได้ใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือตัดสินใจในอันที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มครอบครัวขยายนั้น ผู้นำสูงสุดของหมู่บ้านเองก็เช่นกันเขาไม่สามารถที่จะบงการอะไรได้ตามอำเภอใจนัก เพราะในขณะที่เขาได้รับการยกย่องนับถือจากชาวบ้าน เขาก็จะต้องตั้งอยู่ในกฎแห่งศีลธรรม รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบากับบรรดาหัวหน้าต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในอาณัติของเขา หากเขาเอาแต่ใจตัวเอง หัวหน้าต่าง ๆ ที่รองลงมาอาจจะออกเสียงขับไล่ออกจากตำแหน่งได้