บทที่12  พฤติกรรมทางการเมืองและการควบคุมทางสังคม  >> หน้า 4


                ระบบเครือญาตินี้เองที่เป็นบ่อเกิดของการสืบมรดกทั้งในด้านทรัพย์สิน และอำนาจทางการเมือง การสืบต่ออำนาจของ "ทายาท" ดังเช่นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด นอกจากนี้ ผู้อ่านคงจะพบเห็นเสมอว่า ผู้ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มหนึ่งมักจะมีบิดาที่เคยเป็นหัวหน้ามาก่อน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีของบางสังคม รัศมีหรืออิทธิพลของความเป็นผู้นำทางสังคมมักจะมีผลให้สมาชิกในครอบครัวและวงศ์ญาติของเขามีสถานภาพสูงไปด้วย ซึ่งจะก่อให้เกิดเป็นชนชั้นปกครอง (ruling class) ขึ้น หากจะมองอีกในแง่หนึ่ง ความสัมพันธ์ของคนที่อยู่ในชนชั้นนี้มักจะมีความผูกพันต่อกันอย่างแน่นแฟ้น มีการแต่งงานกันในหมู่พวกเดียวกัน อันเป็นการปกป้องฐานะทางเศรษฐกิจและการเมืองเอาไว้ ยากที่คนในสายตระกูลอื่นจะแหวกทะลุได้ ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ทางด้านเครือญาติจึงมีความสำคัญในการศึกษาพฤติกรรมทางการเมืองอย่างยิ่ง

2.การแบ่งชั้นทางสังคมกับอำนาจ

                การแบ่งชั้นทางสังคมเป็นวิธีการของนักสังคมศาสตร์ที่แบ่งคนในสังคมหนึ่งให้แตกต่างกันออกไป   ซึ่งอาจเป็นไปในแง่ของความสูงต่ำหรือเท่าเทียมกันในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสถานภาพของสังคม การแบ่งชั้นของคนเป็นลักษณะทางวัฒนธรรม ซึ่งค่านิยมและความเชื่อของคนกลุ่มนั้นได้กำหนดกันขึ้น เพื่อเป็นข้อกำหนดของการแบ่งงานกันทำ และเป็นกลไกอันหนึ่งในการปกป้องตนและเสริมสร้างอำนาจให้แก่ตน(3) ในทุกสังคม เราจะเห็นว่า อำนาจมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับลำดับความสูงต่ำของคนในสังคม ทั้งนี้เพราะความไม่เท่าเทียมกันในสังคมก่อให้เกิดการใช้อำนาจ และอำนาจอันชอบธรรม ระหว่างผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้การปกครอง ในขณะเดียวกัน ความไม่เท่าเทียมกันทำให้เกิดการมีสิทธิพิเศษ และข้อบังคับหรือความจำเป็นที่จะต้องกระทำตามภายใต้หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตาม