บทที่12  พฤติกรรมทางการเมืองและการควบคุมทางสังคม  >> หน้า 2


                ผู้อ่านอาจเกิดข้อสงสัยว่า การศึกษาเรื่องการเมืองของนักมานุษยวิทยานั้นมีขอบเขตกว้างขวางมากและอาจก่อให้เกิดความสับสนว่า ตัวอย่างของสังคมที่กำลังพูดถึงนั้นมีลักษณะเช่นไร เพราะคำว่าสังคมนั้นอาจหมายถึงสังคมเล็ก ๆ สังคมเผ่าดั้งเดิม หรืออาจหมายถึงรัฐในสมัยปัจจุบันก็ได้ ด้วยเหตุนี้นักมานุษยวิทยาจึงได้แบ่งชนิดของระบบการเมืองของสังคมต่าง ๆ ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

                ก.                สังคมที่ปราศจากอำนาจที่มาจากส่วนกลาง ไม่มีกลไกทางการปกครองที่เป็นทางการ การตัดสินความและคดีต่าง ๆ ไม่ได้ตั้งขึ้นเป็นสถาบัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นสังคมที่ไม่มีรัฐบาล สังคมประเภทนี้จึงไม่มีการแบ่งตำแหน่ง ยศ สถานภาพ ออกจากกันโดยชัดเจน อิทธิพลของเครือญาติมีบทบาทเหนือสถานภาพ ตำแหน่ง ยศศักดิ์ และความมั่งคั่ง

                ข.                สังคมที่มีอำนาจแผ่ออกไปจากศูนย์กลาง มีกลไกของการบริหารงาน มีสถาบันศาลอย่างครบถ้วน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือสังคมที่มีรัฐบาลกลาง สังคมประเภทนี้มีการแบ่งความมั่งคั่งทางทรัพย์สิน การมีสิทธิพิเศษ และสถานภาพอันเกี่ยวเนื่องกับการใช้อำนาจอันชอบธรรมออกจากกันอย่างเห็นได้ชัด(1)

                ผู้เขียนจะไม่มุ่งพิจารณาศึกษาเฉพาะสังคมที่มีลักษณะเฉพาะดังที่กล่าวไว้ทั้งสองประเภท แต่จะได้กล่าวรวม ๆ ถึงปรัชญาทางมานุษยวิทยาที่มีต่อการวิเคราะห์ลักษณะทางการเมือง โดยนำเอาวิธีการวิเคราะห์เชิงมานุษยวิทยาเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ศึกษาระบบการเมืองของสังคมในประเทศที่กำลังพัฒนา

 

หัวข้อที่นักมานุษยวิทยาสนใจศึกษา

                เนื่องจากการเมืองในสังคมของประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่ มิได้แยกตัวออกมาเป็นอิสระอย่างเห็นได้ชัด สถาบันทางการเมืองมักเกี่ยวพันกับสถาบันทางด้านเศรษฐกิจ สถาบันครอบครัว ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อและศาสนาอย่างแน่นแฟ้น ตลอดจนความเกี่ยวพันทางด้านประวัติศาสตร์ของแต่ละสังคม ดังนั้นจึงก่อให้เกิดปัญหาแก่นักวิชาการที่มุ่งศึกษาสถาบันใดสถาบันหนึ่งโดยเฉพาะ ในขณะเดียวกัน การศึกษาจะไม่สมบูรณ์ถ้าไม่พิจารณาครอบคลุมถึงความสัมพันธ์ด้านอื่น และพิจารณาถึงอิทธิพลของสถาบันอื่นที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมทางด้านการเมืองบ้าง หัวข้อต่อไปนี้เป็นเนื้อหาที่นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาสถาบันการเมืองของสังคม