บทที่12  พฤติกรรมทางการเมืองและการควบคุมทางสังคม>> หน้า 1


บทที่ 12
พฤติกรรมทางการเมืองและการควบคุมทางสังคม

                การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ทางด้านการเมืองนั้น นักวิชาการหลายสาขา อาทิเช่น นักปรัชญา  นักรัฐศาสตร์ นักสังคมวิทยา และนักมานุษยวิทยา ต่างได้ให้ความสนใจและศึกษาค้นคว้ากันอย่างจริงในเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจ การได้มาซึ่งอำนาจ การใช้อำนาจ ตลอดจนองค์การที่เป็นรูปแบบและอรูปแบบทางด้านการเมือง ทั้งที่เป็นเชิงอุดมคติและตามสภาพที่เป็นจริง ในบทนี้ จะได้กล่าวถึงปัญหาและขอบเขตเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองที่นักมานุษยวิทยาสนใจศึกษา ในขณะเดียวกันจะได้พิจารณาถึงวิธีการศึกษาวิธีต่าง ๆ ที่นักวิชาการกลุ่มนี้ใช้ ทั้งนี้แนวการศึกษาในเชิงมานุษยวิทยาเป็นวิธีการที่อาจทำให้ได้รับความรู้ทางด้านการเมืองอีกแง่หนึ่ง ซึ่งนักวิชาการสาขาอื่นอาจมองข้ามไปอันจะเป็นส่วนในการเสริมสร้างวิทยาการสาขาการเมืองให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

มานุษยวิทยากับการศึกษาเรื่องการเมือง

                ลักษณะโครงสร้างทางสังคมทุกแง่ที่นักมานุษยวิทยาศึกษานั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองและการควบคุมทางสังคมก็เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจไม่น้อยกว่าการศึกษาด้านอื่น ๆ ได้มีนักวิชาการออกไปศึกษาวิจัยสังคมต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งในแถบแอฟริกา เอเชีย เกาะทะเลใต้ และชาวอินเดียนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา และได้เขียนเรื่องราวของสังคมเหล่านี้เป็นจำนวนมาก นักมานุษยวิทยาชั้นนำในสาขาการเมือง เช่น Mayer Fortes, E.E. Evans - Pritchard, Lloyes A. Faller, Lucy Mair, Edmund Leach และ George Balandier ได้พยายามวิเคราะห์ระบบการเมืองของสังคมดั้งเดิม และพฤติกรรมทางการเมืองของสังคมเหล่านั้น มีการแยกประเภทของระบบการเมือง การกระทำต่อกันทางการเมือง และสังเกตดูว่าสมาชิกของสังคมที่ปราศจากองค์การทางการเมืองอย่างเป็นทางการนั้น มีการใช้อำนาจและได้มาซึ่งอำนาจอย่างไร ตลอดจนพฤติกรรมของคนในแง่ความภักดีต่อกษัตริย์ การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นระหว่างกันเพื่อได้มาซึ่งตำแหน่งผู้นำทางสังคม และอาจก่อให้เกิดการรวมกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย (faction) และเกิดระบบผู้อุปถัมภ์ - ผู้รับอุปถัมภ์ (patron - client relationship) ขึ้นในสังคม