บทที่11  ครอบครัวและเครือญาติ  >> หน้า 13


                ข้อห้ามนี้เป็นการห้ามแต่งงานหรือสมสู่กับเพศตรงข้ามซึ่งอยู่ในกลุ่มสายเลือดเดียวกัน เช่น พ่อกับลูกสาว แม่กับลูกชาย พี่กับน้อง ในบางสังคมห้ามมีการแต่งงานระหว่างอากับหลานสาว เป็นต้น

                คำอธิบายและการให้เหตุผลของการห้ามนี้มีอยู่หลายประการ เช่น ในทางชีววิทยาอาจทำให้ลูกที่เกิดจากคู่สมรสที่มีสายเลือดเดียวกันมีสติปัญญาต่ำ ไม่ฉลาดเฉียบแหลม ส่วนในทางสังคม อาจมีเหตุผล เช่น

                (1) ทำให้มีญาติพี่น้องแคบ เพราะแต่งงานกับคนในครอบครัว/เผ่าพันธุ์เดียวกัน

                (2) คนทั้งสองมีความสัมพันธ์และเห็นกันมาตั้งแต่เล็ก อาจไม่รักหรือเบื่อกันง่าย

                (3) แสดงถึงความไม่มีความสามารถที่จะหาคู่สมรสที่อื่นได้แล้ว ถึงต้องหาภายในพวกเดียวกัน

                ชาวเกาะโทรเบรียน ในมหาสมุทรปาซิฟิกมีข้อห้ามเกี่ยวกับการสมสู่ระหว่างญาติพี่น้องและสมาชิกในสายตระกูลเดียวกัน เพราะมีความเชื่อกันว่าจะถูกอำนาจเหนือธรรมชาติลงโทษโดยได้รับทุกข์ทรมานจากโรคที่คนรังเกียจหรืออาจถึงตายได้ ชาวหมู่เกาะนี้ได้แสดงความหวาดกลัวเกี่ยวกับความคิดในการละเมิดกฎที่สมาชิกของตระกูลเดียวกันแต่งงานกันเอง

 

สินสอดและทองหมั้น

                สินสอดและทองหมั้นมีบทบาทสำคัญในการผูกสัมพันธ์มนุษย์สองกลุ่มที่กำลังจะแต่งงานกัน ความคิดเกี่ยวกับเรื่องสินสอดจะมีมากน้อยขึ้นอยู่กับความเชื่อทางด้านประเพณีเดิมของแต่ละสังคม

                จากแผนที่ชาติพันธุ์ (Ethnographic Atlas) ได้จำแนกประเพณีเกี่ยวกับสินสอดทองหมั้นที่ปรากฏมีขึ้นในโลก 5 ประเภท ดังนี้

                (1) การมอบสินสอดให้แก่ฝ่ายหญิง (bride wealth) สังคมหลายสังคมรวมทั้งสังคมไทย หากครอบครัวใดต้องให้ผู้หญิงไปแต่งงานกับคนอื่น ก็เท่ากับเป็นการสูญเสียคนทำงานไปคนหนึ่ง ดังนั้น จึงเกิดประเพณีว่า ฝ่ายชายซึ่งจะต้องนำลูกสาวคนอื่นไปอยู่ร่วมด้วย จะต้องเสียเงิน/ทองให้แก่ครอบครัวของฝ่ายหญิงจำนวนหนึ่ง หรือตามจำนวนที่ฝ่ายหญิงเรียกร้อง