บทที่11  ครอบครัวและเครือญาติ  >> หน้า 12


                                        (2) บางสังคมซึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรม  หรือ เข้าป่าล่าสัตว์ ต้องการกำลังคนมาก ฉะนั้น การมีภรรยาหลายคนจะได้ช่วยเกื้อกูลฐานะทางเศรษฐกิจ

                                        (3) สังคมที่มีการรบพุ่งระหว่างหมู่เหล่า หรือภายหลังสงคราม จำนวนผู้ชายลดลงเป็นอันมาก ทำให้ความต้องการผู้ชายมีอยู่ในอัตราสูง  ผู้ชายจึงมีโอกาสเลือกผู้หญิงมาเป็นภรรยาได้หลายคน

                                        (4)                บางสังคมถือว่าผู้หญิงเป็นสมบัติชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสิ่งของหรือสัตว์ใช้งาน การแลกเปลี่ยนผู้หญิงกับสิ่งมีค่าอย่างอื่นย่อมทำได้ บางครั้งก็นำเอาผู้หญิงไปเป็นทาสรับใช้งาน สังคมดังกล่าวนี้ถือว่าผู้ชายมีอำนาจและสิทธิเหนือกว่า   จึงมีภรรยาได้ครั้งละมาก ๆ ตามความสามารถของตน

                        ข. ผู้หญิงมีสามีได้หลายคน (polyandry)

                            สังคมประเภทนี้มีน้อย เช่น ชาวธิเบต ชาวโตดา ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย และชาวนายาร์ ของอินเดีย ในกรณีของพวกนายาร์ ผู้ชายมักจะเป็นนักรบซึ่งเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตมาก ผู้ชายสามารถสมสู่กับผู้หญิงได้ทุกคน และออกไปรบ บางครั้งตายในสนามรบ และภรรยาก็มีคู่รักใหม่ได้เรื่อย ๆ ผู้หญิงเป็นผู้จัดการกิจกรรมทุกอย่างของครอบครัว ดังนั้น "สามี" จึงไม่มีความสำคัญอะไรเลย ลูกที่เกิดมาจะไม่รู้จักผู้เป็นพ่อ

                             บางสังคมเมื่อลูกผู้หญิงเกิดมาจะถูกฆ่าตายเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกิดความขาดแคลนผู้หญิง ด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงคนหนึ่งจึงสามารถมีสามีได้หลายคนในเวลาเดียวกัน

 

ข้อห้ามในการแต่งงาน (incest taboo)

                ในสังคมสัตว์ หากตัวไหนมีความต้องการสมสู่กับสัตว์เพศตรงกันข้ามก็ย่อมทำได้ ไม่เว้นว่าจะมีลักษณะความสัมพันธ์แบบใดมาก่อน เพราะสัตว์ถือว่าความต้องการทางเพศเป็นสิ่งที่จำเป็นและการสมสู่เป็นเหตุผลทางธรรมชาติเท่านั้น ส่วนมนุษย์ผู้ซึ่งมีวัฒนธรรมสูงกว่า รู้จักเลือกว่าใคร ผู้ใดที่จะสามารถมีความสัมพันธ์ทางเพศและจนถึงขั้นแต่งงานได้ ด้วยเหตุนี้ การกำหนดกฎเกณฑ์ทางสังคมประเภทนี้จึงได้รับความสนใจจากนักมานุษยวิทยา คือ ข้อห้ามในการแต่งงาน