บทที่11  ครอบครัวและเครือญาติ  >> หน้า 9


                เมื่อเกาหลีได้รับเอกราชและตั้งเป็นประเทศเอกราช กฎหมายครอบครัวก็ยังคงเป็นไปคล้ายคลึงกับกฎหมายของญี่ปุ่น คนทั่วไปก็ยังยึดถือครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญทางสังคมและมีโครงสร้างและหน้าที่คล้ายคลึงกับอดีต กล่าวคือ ครอบครัวคือหน่วยที่ทำหน้าที่สืบทอดเชื้อสายจากบรรพบุรุษ ดังนั้น แต่ละตระกูลจะมีสมุดบันทึกลำดับสายตระกูลของตน หรือที่เรียกว่า "โชคบู" และเก็บไว้ให้ลูกหลานเพื่อให้รับรู้และบันทึกผู้สืบต่อสายเลือดเดียวกันต่อไป

                ปัจจุบัน เนื่องจากเกาหลีใต้ได้พัฒนาเศรษฐกิจเจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองและประกอบอาชีพในงานอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม รวมทั้งต้องติดต่อกับคนทั่วโลก   ทำให้การยึดถือหลักของขงจื้อและการยอมรับอำนาจของบิดาเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามความจำเป็นของสถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้น ศาสตราจารย์ฮอง ซังชิค แห่งมหาวิทยาลัยเกาหลี ได้ศึกษาทิศทางของการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างใกล้ชิดและพยายามค้นหาดัชนีเพื่อชี้ให้เห็นถึงระดับของการเปลี่ยนทัศนคติต่อครอบครัวเมื่อปี คศ.1984 (พ.ศ.2527) ดังนี้

                "ในแง่ของทัศนคติต่อความเคารพเชื่อฟังและกตัญญูของลูกต่อพ่อแม่นั้น คนยุคใหม่มีการเชื่อฟังพ่อแม่ลดลง ในขณะเดียวกัน คนต่างตระหนักถึงการแสวงหาความสุขสบายของครอบครัวของตนเองมากขึ้น นอกจากนี้ ทัศนคติต่อการเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามแก่ชราก็มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด" ศาสตราจารย์ฮองจึงกล่าวสรุปว่า "ปัจจุบัน คนเกาหลีมีทัศนคติเป็นไปตามลักษณะของปัจเจกชนนิยมมากขึ้น" หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คนจะคิดถึงตนเองและครอบครัวของตนมากกว่าจะคิดถึงพ่อแม่และญาติมิตรนั่นเอง(4)

 

แบบแผนการแต่งงานและครอบครัว

ลักษณะวิธีแต่งงาน

                ตามปกติ การแต่งงานมักจะแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะตามรูปแบบของวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่ม มีดังต่อไปนี้

1.  การฉุดคร่า

                ชายต้องการหญิงมาเป็นภรรยา จะต้องไปฉุดคร่าลักพาตัวหญิงสาวมาโดยไม่คำนึงว่าหญิงหรือญาติของหญิงจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม ประเพณีนี้ยังมีประพฤติปฏิบัติกันอยู่ในหมู่ชนเผ่าต่าง ๆ เพราะคนในกลุ่มตระกูลเดียวกันจะแต่งงานกันไม่ได้ จึงต้องไปหาภรรยาจากตระกูลอื่นโดยใช้กำลังฉุดคร่าลักพาตัว