บทที่ 11 ครอบครัวและเครือญาติ  >> หน้า 2


สถาบันทางครอบครัว

                นักมานุษยวิทยาให้ความสำคัญและสนใจศึกษาวิจัยในเรื่องครอบครัวมาก เพราะถือกันว่า หากจะทำความเข้าใจวัฒนธรรมของสังคมใดก็ตาม สิ่งแรกที่จะต้องทำความเข้าใจเรียนรู้ให้ได้ ก็คือ สถาบันครอบครัวนั่นเอง สถาบันทางสังคมประเภทนี้จะผูกพันเกี่ยวเนื่องระหว่างหมู่สมาชิกในสังคมและเกี่ยวข้องกับสถาบันทางสังคมอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เนื่องมาจากเหตุผล 2 ประการ คือ

                (1) ครอบครัวเป็นหน่วยทางสังคมพื้นฐานที่เก่าแก่ที่สุดกว่ากลุ่มอื่นใดในสังคม หน่วยทางสังคมนี้เป็นที่รวมของกลุ่มที่เล็กที่สุด คือ พ่อ แม่ และลูก อีกทั้งยังคงเป็นกลุ่มสังคมที่มีความสำคัญดำเนินตลอดมาตราบทุกวันนี้ ดังนั้น จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อสมาชิกแต่ละคนและต่อกลุ่มสังคมทั้งหมดอีกด้วย

                ต่อมา เมื่อสังคมเจริญและพัฒนาขึ้นเรื่อยมา สังคมได้กำหนดให้สถาบันอื่นทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์เฉพาะอย่างแทนบทบาทของครอบครัวที่เคยทำมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล เช่น เศรษฐกิจ โรงเรียน การเมือง ฯลฯ แต่ถึงกระนั้นก็ดี หน้าที่และกลไกการปฏิบัติงานขององค์กร/สถาบันเหล่านี้ต่างก็มีพื้นฐานจากการอยู่ร่วมกันเสมือนหนึ่งเป็นครอบครัวเดียวกัน

                (2) นักมานุษยวิทยาได้ทำการศึกษาสังคมแทบทุกส่วนของโลก เมื่อวิเคราะห์อย่างละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่าสังคมทั้งหลายยึดถือว่า ความสัมพันธ์ในครอบครัวและเครือญาติมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในกระบวนการทางสังคม (social process) ทั้งหมด ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น ในสังคมระบบสมบูรณาญาสิทธิราชนั้น การถ่ายทอดราชสมบัติจะผ่านทางสายเลือด ส่วนในสังคมปัจจุบันสมาชิกครอบครัวมีการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจ การร่วมมือกันทางสังคม การอบรมสั่งสอน และการรักษากฎระเบียบและข้อบังคับทางสังคม อนึ่ง จะเห็นชัดว่า บริษัทหนึ่ง ๆ หุ้นส่วนใหญ่ที่ดำเนินกิจการจะเป็นสมาชิกจากครอบครัวเดียวกันและเป็นญาติกัน เป็นต้น