บทที่11  ครอบครัวและเครือญาติ  >> หน้า 3


ครอบครัวของไทย

                การศึกษาวิจัยเรื่องครอบครัวไทยที่ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงมานุษยวิทยามีมานานแล้ว โดยมีแยกครอบครัวออกเป็น 2 ประเภท คือ ครอบครัวเดี่ยว (nuclear family) และครอบครัวขยาย (extended family)

                ครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวแรกเริ่ม หมายถึงครอบครัวที่มีสมาชิกเฉพาะ พ่อ แม่ และลูก (ดูแผนภาพที่ 11.1) ไม่มีคนอื่นหรือญาติคนอื่นอาศัยรวมอยู่ด้วย ครอบครัวขยายหมายถึงครอบครัวที่มีญาติเข้ามาอาศัยอยู่ด้วยนอกเหนือจากพ่อ แม่ และลูก อาทิเช่น ปู่ ย่า น้องของแม่ หรือภรรยาของลูกชายก็ได้

                จากการศึกษาเรื่องครอบครัวในชนบทไทยพบว่า ครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว ดังเช่น ในหมู่บ้านเขตสำรวจของจังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนครอบครัวเดี่ยวถึง 61 เปอร์ เซนต์ จังหวัดอยุธยามี 70 เปอร์เซนต์ ขอนแก่นมี 56 เปอร์เซนต์ และสงขลามี 46 เปอร์เซนต์ นอกนั้นเป็นครอบครัวขยาย ที่อยุธยามีครอบครัวเดี่ยวมากนั้นแสดงถึงอิทธิพลของสภาพทางเศรษฐกิจ เพราะมีที่ดินน้อย ด้วยเหตุนี้จะอาศัยอยู่ร่วมกันพ่อแม่ภายหลังแต่งงานจึงทำได้ยาก และต้องแยกครอบครัวออกไปอยู่ต่างหาก หรือาจจะแสดงถึงค่านิยมของคนภาคกลางที่ถือลักษณะปัจเจกชนนิยมมากกว่าภาคอื่น ๆ โดยทั่วไปแล้ว ครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยายตามบรรทัดฐานหรือวัฒนธรรมในแง่อุดมคตินั้น ครอบครัวไทยเริ่มต้นด้วยการเป็นครอบครัวเดี่ยวแล้วกลายเป็นครอบครัวขยาย แล้วกลับมาเป็นครอบครัวเดี่ยวอีก ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่า พ่อ แม่ และลูกที่อยู่ด้วยกัน พอลูกโตขึ้นลูกสาวก็เอาลูกเขยเข้ามาอยู่ในบ้าน เพราะฉะนั้น ครอบครัวที่เป็นครอบครัวเดี่ยวก็จะกลายเป็นครอบครัวขยายเพราะลูกสาวเอาสามีมาอยู่ด้วย พอถึงระยะเวลาหนึ่งอาจจะตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปหรือ 5 - 10 ปี เมื่อลูกสาวคนที่สองแต่งงาน ลูกสาวคนแรกก็จะต้องพาสามีออกไปสร้างบ้านเรือนใหม่อยู่ในบริเวณบ้านเดียวกันกับครอบครัวของพ่อแม่ หรือกรณีที่ผู้ชายมีเงินมีทองมากพอสมควรก็จะนำเงินที่เก็บได้ไปสร้างบ้านในบริเวณบ้านที่ซื้อไว้ต่างหาก ฉะนั้นครอบครัวขยายก็เป็นครอบครัวเดี่ยวอีกที พอพ่อแม่มีลูกที่แต่งงานอยู่ด้วยก็กลับเป็นครอบครัวขยายใหม่ เป็นวัฏจักรของครอบครัวไทยตามอุดมคต

                ส่วนทางปฏิบัติอาจไม่ได้เป็นไปตามแบบนี้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะโครงสร้างวัฒนธรรมไทยมีลักษณะหลวม ๆ ไม่มีการกำหนดไว้แน่นอนตายตัว หรือแม้จะมีการกำหนดไว้ก็ไม่ได้มีการบังคับว่าทุกคนจะต้องทำตามแบบนั้น  อนึ่ง ในแง่ของการรับมรดกตามอุดมคติ ผู้หญิงจะได้รับมรดกเมื่อแต่งงานและนำเอาฝ่ายชายมาอยู่ในบ้าน จึงจะได้รับมรดกที่ดินจากพ่อแม่ ส่วนลูกสาวคนสุดท้องจะได้บ้านที่อยู่อาศัย รวมทั้งที่ดินอื่น ๆ ที่ยังไม่แบ่งให้ใคร(2)