บทที่10  การแลกเปลี่ยนและเงินตรา   >> หน้า 7

AN113


ก.            การแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคล

                        มีลักษณะปรากฏดังรูปด้านขวามือนี้ การแลกเปลี่ยน                       ดังนี้ศาสตราจารย์ซาลินส์ให้ชื่อว่า "reciprocity" ซึ่งผู้ให้และผู้รับมี    B สถานภาพทางสังคมอยู่ในระดับเดียวกันและจำนวนของที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนจะมีจำนวนใกล้เคียงกัน  ความสำคัญของการกระทำต่อกันทางสังคมในเชิงนี้ก่อให้เกิดสภาพ "การกระทำร่วมกัน" ระหว่างคนหรือระหว่างกลุ่ม อันจะนำไปสู่สภาพความเป็นพวกพ้อง (alliance) และการเกื้อหนุนจุนเจือซึ่งกันและกันขึ้น 


 ข.             การแลกเปลี่ยนภายในกลุ่ม

             เป็นลักษณะที่เกิดจากการเคลื่อนไหวที่ มาจากศูนย์กลางภายในสังคมหนึ่ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ชาวเกาะโทรเบียนนำเอามันมือเสือไปให้แก่หัวหน้าเผ่าในปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันหัวหน้าก็จะจัดงานเลี้ยงและแจกจ่ายข้าวของที่ได้รับกลับคืนแก่พวกลูกบ้าน ชนิดของการแลกเปลี่ยนนี้ศาสตราจารย์ซาลินส์ให้ชื่อว่า "pooling and redistribution" 

                สำหรับการแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างบุคคลตามที่กล่าวไว้ในข้อแรกนั้น ศาสตราจารย์ซาลินส์ยังได้จำแนกออกไปเป็น  

           (1)  การแลกเปลี่ยนโดยมิได้หวังผลตอบแทน (Generalized reciprocity) ลักษณะของการแลกเปลี่ยนแบบนี้ ได้แก่ การทำบุญ การอนุเคราะห์ การให้ของขวัญ การช่วยเหลือและความเอื้อเฟื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งผู้ให้มิได้คาดหวังว่าผู้รับจะต้องให้สิ่งของเป็นการตอบแทน หรือถ้าจะมีการตอบแทนก็มิได้กำหนดระยะเวลา จำนวน หรือคุณลักษณะของสิ่งของนั้น ๆ 

            (2)  การแลกเปลี่ยนที่ต้องการผลตอบแทนที่เท่ากัน (balanced reciprocity) การแลกเปลี่ยนชนิดนี้เป็นการแลกเปลี่ยนโดยตรง เมื่อผู้ให้หยิบยื่นของสิ่งใดให้แก่ใครแล้วเขาประสงค์ที่จะให้ผู้นั้นตอบแทนโดยทันทีในอัตราหรือจำนวนที่เท่า ๆ กัน การกระทำทางสังคมแบบนี้ ผู้ให้และผู้รับมีความสัมพันธ์ส่วนตัวน้อยกว่าแบบที่หนึ่ง และมีลักษณะที่เป็น  "เชิงเศรษฐกิจ" มากขึ้น ซึ่งมักเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกที่อาศัยอยู่ในสังคมเดียวกันหรือเป็นเพื่อนบ้านกัน