บทที่9  ระบบเศรษฐกิจเทคโนโลยีและสภาพนิเวศ >> หน้า 11

                 ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่าลักษณะของสภาพสังคมของคนในเมืองแอชตันมีดังนี้

                 (1) คนงานในเหมืองถ่านหินมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นภายใต้พื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่คล้ายคลึงกัน ทำให้ดูประหนึ่งว่าเป็นคนใน "ชนชั้น" เดียวกัน

               (2) เหมืองถ่านหินตั้งอยู่นอกเมือง ทำให้กรรมกรต้องอาศัยอยู่ในบริเวณที่ค่อนข้างโดดเดี่ยวเฉพาะกลุ่มกรรมกรเพื่อทำงาน การรวมกลุ่มของคนทำงานเหล่านี้ทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาแน่นแฟ้นและเป็นคนเพศเดียวกันล้วน ๆ จึงทำให้มีอำนาจในการต่อรองกับนายจ้าง

                  (3) ความสัมพันธ์ในการอุตสาหกรรมระหว่างกรรมกรกับนายจ้างซึ่งมักจะมีความตึงเครียด และเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

                 ลักษณะการรับจ้างของแรงงานชายในเหมืองถ่านหินเริ่มขึ้นเมื่อเด็กชายที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน จะได้รับค่าจ้างที่ต่ำสุด ค่าจ้างจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเขาอายุได้ 26 ปี และจะทรงตัวตลอดไป จนอายุได้ 40 กว่า ๆ ไปจนถึงระยะเวลาที่เขาทำงานไม่ไหว ในกรณีที่เขาได้รับอันตรายในขณะที่ทำงานซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในเหมืองถ่านหิน กรณีนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะสามารถทำงานได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาของการทำงานนั้น ค่าจ้างอาจจะถูกตัดเหลือครึ่งหนึ่งเป็นการถาวรหรือชั่วคราวก็ได้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ

                 ความพอใจในอาชีพการขุดถ่านหินสำหรับกรรมกรไม่ค่อยสูงนัก พ่อแม่มักจะไม่ต้องการให้ลูกชายของตนไปทำงานในเหมือง และคนหนุ่มสาวก็มักกล่าวว่าการขุดถ่านหินไม่ใช่งานที่พวกเขาจะทำ แต่ในที่สุด คนส่วนใหญ่ก็ต้องลงไปทำงานประเภทนี้ เพราะงานอื่นมีไม่มากนักและค่าจ้างก็สูงพอที่จะดึงดูดคนไปทำเมื่อเปรียบเทียบกับงานประเภทซ่อมแซมบ้าน คนขับรถและคนงานรถไฟ อีกประการหนึ่งการเป็นกรรมกรเหมืองถ่านหินก็เป็นการร่วมชีวิตในประสบการณ์เดียวกับคนส่วนใหญ่ในสังคมแอชตันด้วย