บทที่9  ระบบเศรษฐกิจเทคโนโลยีและสภาพนิเวศ  >> หน้า 9

                 จะเห็นได้ว่า จำนวนประชากรของเมืองแอชตันได้เพิ่มจำนวนขึ้นในขณะที่มีการขุดถ่านหินจากเหมืองมากขึ้นด้วย ผลสะท้อนของปรากฏการณ์เหล่านี้มีผลสืบเนื่องไปยังขนาดของเมืองและลักษณะของบ้านพักอาศัยของคน ในปี 1951 มีบ้านจำนวน 4,000 หลัง ซึ่งมีทั้งตึกใหญ่ของเจ้าของเหมือง ไปจนถึงบ้านซึ่งปลูกด้วยการเคหะที่ชานเมือง และบ้านของช่างฝีมือเป็นแถว ๆ ลักษณะของที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยห้องนั่งเล่นและเป็นห้องครัวไปในตัว ห้องนอน ห้องน้ำ และห้องใต้ดิน ผู้ที่อาศัยในแต่ละหน่วยของตัวอาคารจะใช้ลิฟท์ร่วมกัน จึงดูเสมือนว่าคนอาศัยอยู่ตาม "รู" และแอชตันก็ได้รับ ฉายาว่าเป็น "รูหรือรังที่สกปรก"

                 คนแอชตันหมายถึงประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองแอชตัน แต่มิได้หมายความว่าคนเหล่านี้จะต้องทำงาน เล่น ซื้อของในตัวเมืองนี้เท่านั้น เพราะเมืองแอชตันไม่ใช่เป็นเมืองปิด มีเมืองคาสเติลทาวน์ ซึ่งมีพลเมือง 23,000 คนอยู่ห่างออกไปเพียงเล็กน้อยและห่างออกไปอีกนิดหน่อยก็จะเป็นเมืองใหญ่ชื่อคาลเดอร์ฟอร์ด ซึ่งมีพลเมืองถึง 43,000 คน นอกจากนี้ยังมีเมืองอื่น เช่น ฟูลวูด และ บานสเล่ห์ ตั้งอยู่ใกล้เคียงในบริเวณเดียวกัน ผู้หญิงจากเมืองแอชตันต้องออกไปซื้อข้าวของและไปทำงานในเมืองเหล่านี้อยู่เสมอ ๆ ทั้งนี้เพราะอุตสาหกรรมหลักเป็นเมืองที่ผลิตถ่านหิน โอกาสของการหางานทำของผู้หญิงจึงมีน้อย ในปี คศ. 1911 จำนวนแรงงานที่ทำงานมี 38 เปอร์เซนต์ และในปี 1931 มีแรงงานที่ทำงาน 42 เปอร์เซนต์ ในจำนวนนี้มีแรงงานของผู้หญิงถึง 16 เปอร์เซนต์ งานที่ผู้หญิงทำก็คืองานบ้านซึ่งต้องออกไปทำงานในเมืองอื่น

                ในปี 1944 ได้มีการวางแผนเพื่อให้เกิดการจ้างแรงงานของผู้หญิงขึ้น จนกระทั่งมีการตั้งโรงงานเย็บเสื้อผ้าเล็ก ๆ 2 แห่ง และโรงงานทำมักกะโรนีอีก 1 แห่งเมื่อปี 1951 แต่จำนวนของการจ้างแรงงานก็เพิ่มมากขึ้นอีกเล็กน้อย เช่น โรงงานทำมักกะโรนีจ้างคนเพียง 10 คนเท่านั้น ส่วนโรงงานเย็บเสื้อผ้าได้จ้างแรงงาน 167 และ 29 คน ตามลำดับ ในขณะที่มีแรงงานหญิงที่สามารถทำงานได้ (อายุระหว่าง 15 - 65 ปี) มีถึง 4,826 คน จำนวนแรงงานที่เหลือจึงต้องออกไปหางานทำที่อื่น

                 แรงงานชายที่อยู่ในวัยระหว่าง 15 - 65 ปี จะทำงานในโรงงาน และอาชีพที่เด่นก็คือการขุดถ่านหิน ในปี คศ. 1911 มีจำนวนแรงงานชาย 76 เปอร์เซนต์ ที่ทำงานในเหมือง และในปี 1931 มี 68 เปอร์เซนต์ ไม่มีอุตสาหกรรมหลักอื่นใดอีก นอกจากมีบางคนเท่านั้นที่ทำงานในโรงงานทอผ้า ค้าขายและบริการอื่น ๆ อีกเล็กน้อย กรรมกรในเหมืองถ่านหินจำนวน 3,700 คน นั้น มิได้เป็นคนแอชตันทั้งหมด กล่าวคือ ในปี 1952 แรงงาน 2,300 คนทำงานในเหมือง 2 แห่ง และมีแรงงานที่อาศัยอยู่ที่อื่น 600 คน ซึ่งมาทำงานที่เหมืองนั้น มีแรงงานกว่า 1,500 คนที่ต้องเดินทางไปกลับจากที่ทำงานและที่อยู่อาศัยโดยทางรถประจำทางทุกวัน เขาเหล่านี้จะทำงานร่วมกันและมีที่อยู่อาศัย โอกาสของชีวิต และ ลีลาชีวิตที่คล้ายคลึงกัน ลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์และสังคมวัฒนธรรมดังนี้ทำให้ถือได้ว่าเป็นคนในชุมชนเดียวกัน